กล่าวนำและทำความเข้าใจ

กล่าวนำและทำความเข้าใจ

Blog นี้จัดทำขึ้นเนื่องจากการที่ตั้งใจศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและหลักการปฏิบัติตนตามหลักคำสอนอย่างถูกต้อง
เพราะในปัจจุบันคนเราเน้นการทำบุญโดยเอาความสะดวกสบายและง่ายเข้าว่า โดยบ้างครั้งอาจจะผิดหลักคำสอนจนความตั้งใจทำบุญจริงๆนั้นกลายมาเป็นบาป และบ้างครั้งอาจจะหลงผิดใช้เงินกับการทำบุญที่ผิดวิธีจนได้บาปเช่นกัน แต่เราก็สามารถทำบุญอย่างง่ายๆและถูกต้องได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องรู้หลักการปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อที่จะได้บุญจริงๆ

บทความใน Blog นี้จึงขอมุ่งเน้นหยิบยกเนื้อหาอ้างอิงจากพระไตรปิฏกเป็นหลักและบทความจากผู้ที่ศึกษาพระไตรปิฏกอย่างจริงจังที่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน การทำ Blog นี้มีเจตนาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางที่สำหรับผู้คนอาจจะพบเห็นและได้ศึกษาธรรมมากขึ้น

"การศึกษาอะไรที่ยิ่งใหญ่ อาจจะมาจากเรื่องที่เราสงสัยเล็กๆเพียงเรื่องเดียว"

***ทั้งนี้เนื้อหาที่ได้ลงไปใน Blog ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณและศึกษาจากพระไตรปิฏกควบคู่ไปด้วยเพราะอาจมีการคลาดเคลื่อนของเนื้อหา เพื่อผู้อ่านจะได้รับความรู้ที่ตรงและถูกต้องที่สุดครับ***

วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สติและพิจารณา

สติและพิจารณา


ในเหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่น่าจะนำมาใช้และทุกคนน่าจะรู้จักดีก็คือ สติ และ หลักกาลามสูตร 10 ครับ
ยิ่งในสมัยที่เทคโลโนยีก้าวหน้ารวดเร็วอย่างนี้ข้อมูลต่างๆที่ได้มา ถ้าคนที่รับฟังไม่ได้กรองความเป็นจริงและหาข้อมูลหลักฐานความจริงมาประกอบแล้ว พวกเราอาจจะตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนที่ไม่หวังดีก็เป็นไปได้ครับ

กาลามสูตร 10

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

 [๕๐๕] ๖๖. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของพวกกาลามะชื่อว่า เกสปุตตะ
พวกชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคมได้สดับข่าวมาว่า พระสมณโคดมศากยบุตร
ทรงผนวชจากศากยสกุลแล้ว เสด็จมาถึงเกสปุตตนิคมโดยลำดับ ก็กิตติศัพท์อัน
งามของพระสมณโคดมพระองค์นั้นแล ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ... ทรงเบิกบานแล้ว ทรงจำแนกธรรม
พระองค์ทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วย
พระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะใน
ท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อม
ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปาน-
*นั้น ย่อมเป็นความดีแล ครั้งนั้น ชนกาลามโคตร ชาวเกสปุตตนิคมได้เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง
ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการ
ปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประนมมือ
ไปทางพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศชื่อและ
โคตรแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกนั่งเฉยๆ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
เมื่อต่างก็นั่งลงเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า มีสมณ
พราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม สมณพราหมณ์พวกนั้น พูดประกาศ
แต่เฉพาะวาทะของตัวเท่านั้น ส่วนวาทะของผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น
พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม
ถึงพราหมณ์พวกนั้น ก็พูดประกาศแต่เฉพาะวาทะของตนเท่านั้น ส่วนวาทะของ
ผู้อื่นช่วยกันกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น พูดกด ทำให้ไม่น่าเชื่อ พระเจ้าข้า พวก
ข้าพระองค์ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ทีเดียวว่า ท่าน
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร
กาลามชนทั้งหลาย ก็ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย และท่าน
ทั้งหลายเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในฐานะที่ควรแล้ว มาเถิดท่านทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำ
สืบๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้าง
ตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดย
ความตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าได้
ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้
เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล
ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรม
เหล่านั้นเสีย ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ความโลภ เมื่อเกิดขึ้นในภายในบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็น
ประโยชน์ พวกชนกาลามโคตรต่างกราบทูลว่า เพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์
พระเจ้าข้า ฯ

***********************************************************

[317] กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 (หมายถึง วิธีปฏิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย หรือหลักความเชื่อ ที่ตรัสไว้ในกาลามสูตร — how to deal with doubtful matters; advice on 

how to investigate a doctrine, as contained in the Kalamasutta)
       1. มา อนุสฺสเวน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา — Be not led by report)
       2. มา ปรมฺปราย (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา — Be not led by tradition)
       3. มา อิติกิราย (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ — Be not led by hearsay)
       4. มา ปิฎกสมฺปทาเนน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ — Be not led by the authority of texts)
       5. มา ตกฺกเหตุ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก — Be not led by mere logic)
       6. มา นยเหตุ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน — Be not led by inference)
       7. มา อาการปริวิตกฺเกน (อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล — Be not led by considering appearances)
       8. มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว — Be not led by the agreement with a considered and approved 

theory)
       9. มา ภพฺพรูปตาย (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ — Be not led by seeming possibilities)
       10. มา สมโณ โน ครูติ (อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา — Be not led by the idea, ‘This is our teacher’)

       ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น

***********************************************************

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปฏิรูป !!!!!!

ปฏิรูป !!!!!!


ช่วงนี้อาจจะได้ยินคำนี้เยอะครับ เพราะการเมืองกำลังร้อนแรง แต่ถ้าจะให้ผมพูดผมอยากให้มีการปฏิรูปพระในประเทศมากกว่าครับ เพราะข่าวทุกวันนี้ก็ยังเห็นพระที่ทำผิดพระวินัยอยู่ แต่ที่แปลกก็คือทั้งๆที่เห็นว่าพระทำผิดพระวินัยและมีการนำมาออกข่าว แต่คนดูก็ยังไม่รู้ว่พระทำผิดวินัยครับ

ขอยกตัวอย่างข่าวเมื่อเช้านี้ครับ

" มีพระไปถอนเงินที่ธนาคารและมีคนขโมยเงินไปต่อหน้าต่อตา "
ผลสรุปคือ ชาวบ้านนั้นโกรธคนที่ขโมยเงินของพระครับ 
ซึ่งในทางกฏหมายนั้นคนนั้นผิดแน่นอนที่ขโมยของครับ
แต่ถ้าทางธรรมนั้น พระนั้นผิดพระวินัยครับที่มีเงิน รับเงิน จับเงินครับ

เรื่องทั้งหมดนี้เราทุกคนจะเข้าใจได้ว่าใครผิดใครถูกถ้าพระและโยมศึกษาพระธรรมบ้างให้สมกับที่นับถือศาสนาพุทธครับ

พระนั้นย่อมต้องศึกษาพระธรรมแน่นอนอยู่แล้วครับ ส่วนโยมอย่างน้อยก็น่าจะศึกษาไว้บ้างครับ
เหมือนกับที่เราจะซื้อรถก็ต้องดูว่ารถรุ่นไหนดี และยี่ห้ออะไรที่ว่าดีนั้นเป็นเช่นไร ก็เหมือนกับพระที่ว่าดีนั้นเป็นเช่นไร
ถ้าเปรียบก็อาจจะเปรียบได้ว่า "พระธรรมวินัย" ก็คือคู่มือดูพระนั้นเองครับว่าพระต้องปฏิบัติตนเช่นไรถึงจะเรียกว่าพระที่ดี

แต่มี 1 สิ่งที่เราอาจจะลืมไปครับว่าเราทุกคนที่เรียนวิชาพระพุทธศาสนารู้กันดีว่าพระศาสดาของเราก่อนที่จะออกผนวชนั้นเป็นถึงทายาทกษัตริย์ ที่มี ลาภ ยศ และโภคทรัพย์มากมาย แต่พระพุทธองค์ก็หนี้สิ่งเหล่านั้นเพื่อความหลุดพ้น

แต่ดูพระในบ้านเมืองเราสมัยนี้สิครับอาจจะพูดได้ว่าบวชมาเพื่อหาทรัพย์สิ่งของก็ว่าได้ มีเงินเก็บเป็นแสนเป็นล้าน ซึ่งมากว่าโยมผู้ตั้งหน้าตั้งตาทำบุญซะอีก และขัดกับการปฏิบัติของพระศาสดาอย่างมากมาย

เพียง 1 ข้อที่กล่าวมานี้ก็น่าจะทำให้ใครหลายๆคนคิดได้นะครับว่าพระศาสดาของเรายังทิ้งทรัพย์สินเพื่อหาทางหลุดพ้นและห้ามการรับ เงิน ทอง ต่างๆ แล้วพระที่บวชเข้ามาเป็นสาวกของพระองค์จะบวชมาเพื่อหาทรัพย์สินไปทำไมกัน ?

สิ่งที่กล่าวมานี้คิดว่าถูกหรือผิด และเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ครับ ขอฝากให้คิดกันนะครับ

พระไม่สามารถรับเงิน ทอง ที่ดิน สิ่งของที่มีค่า หรือแม้กระทั้งซื้อของเองได้

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
จุลศีล
 [๑๐๓] ดูกรมหาบพิตร อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.
             
             ๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน.
             ๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ.
             ๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ.
             ๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี.
             ๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส.
             ๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ.
             ๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร.
             ๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา.
             ๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน.
             ๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้.
             ๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย.
             ๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง.

**************************************************************************

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เรื่องแปลกแต่จริงของชาวพุทธ

เรื่องแปลกแต่จริงของชาวพุทธ


มาพักเรื่องเครียดๆ หลายๆ เรื่องในช่วงนี้กันนะครับ ทั้งด้านการเมือง ศาสนา และ สังคม

คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธนั้นเป็นที่น่าชื่นชมว่าเป็นความรัก และ เคารพ พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง โดยถ้ามีใครมากล่าวพาดพิงถึงเป็นไม่ได้ต้องมีอารมณ์ขึ้นกันบ้าง
(แต่บางครั้งก็น่าจะศึกษาดูบ้างว่าที่เขาพูดถึงนั้นจริงเท็จตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนขนาดไหน และก็อย่าเชื่ออะไรง่ายๆเพราะฟังจากคนอื่นมา หรือตามที่ตนเองคิดว่าถูกต้องแล้ว หรือ เชื่อตามพระที่มีสมณศักดิ์ใหญ่แต่ไม่รู้ว่าปฏิบัติตนเช่นไร)

อีก 1 สิ่งที่ผมคิดว่าน่าแปลกที่คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธทั้งหมดทั้งในประเทศและต่างประเทศตอบไม่ได้ ?

ผมคิดว่า มากกว่า 50% ของของคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ บอก "พระนาม" ของพระศาสดา ของศาสนาพุทธ ไม่ได้

ผมคิดว่า มากกว่า 50% ของของคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ บอก "พระนาม" ของพระศาสดา ของศาสนาอื่นๆ ได้

ลองย้อนนึกกลับไปเวลาที่เราเรียนพระพุทธศาสนาในทุกๆปี ก็ไม่เจอพระนามของพระศาสดา หรือว่าเจอแต่เราก็ไม่ได้สนใจก็เป็นไปได้

และผมคิดว่าถ้าลองถามคำถามนี้กับผู้ที่บอกตัวเองว่า "นับถือศาสนาพุทธ และ เป็นชาวพุทธ" คงจะได้คำตอบ เช่น
พระนามของเจ้าชายตอนที่ยังไม่ได้ออกผนวชบ้าง หรือ ชื่อพระพุทธรูปตามวัดดังต่างๆ บ้าง

ถ้าเราเป็นชาวพุทธจริงเราลองถามคำถามนี้กับตัวเองดูนะครับว่าเราจะตอบได้ไหม ?
ถ้าเราตอบไม่ได้เราจะยังกล้าพูดว่าเราเป็น "ชาวพุทธ" อย่างเต็มปากได้หรือไม่ ?

ฝากให้คิดกันนะครับ ^^

วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

ใกล้ฤดูกาลแห่งการแจกซอง

ใกล้ฤดูกาลแห่งการแจกซอง


ช่วงนี้ใกล้จะออกพรรษาแล้ว แต่ละคนก็เริ่มที่จะตั้งหน้าตั้งตาทำบุญใหญ่กัน คือ กฐิน
แต่ในสมัยนี้กับสมัยพุทธกาลนั้นการทำกฐินแตกต่างกันมากครับ ลองหาศึกษากันดูนะครับว่าการทำกฐินในสมัยพุทธกาลเป็นเช่นไรครับ ที่เขาทำกันแล้วได้บุญมากมายครับ

พอผมได้ศึกษาพระพุทธศาสนาแล้วก็รู้สึกหวั่นใจว่า พอมาถึงเทศกาลแจกซองของคนไทยนี้จะปฏิเสธอย่างไรดี เพราะคนที่นำมาแจกก็เห็นหน้ากันอยู่ประจำ

พอได้พูดคุยว่ามันเป็นบาปจากการที่เรานำเงินไปถวายพระ และยังไม่ได้อธิบายเพิ่ม แต่กลับได้คำตอบว่าก็แล้วแต่ว่าคิดยังไง ถ้าคิดว่าบาปก็ไม่ต้องทำ กลายเป็นว่าเราเหมือนแกะดำไป

จึงทำให้นึกว่าการทำบุญเราอาศัยแค่ความคิดเราหรือ? โดยไม่ดูเลยว่าเราทำถูกหรือไม่

กับคำพูดที่ว่า "แค่คิดก็ได้บุญแล้ว" แต่ถ้าความคิดนั้นผิดแล้วเป็นบาป จะไม่ได้บาปหรือ?

ก็เหมือนอย่างที่ผมเคยเขียนไว้ว่า ถ้าเห็นคนติดเหล้า หรือ ยาเสพติด แล้วสงสารเขา เราก็ซื้อเหล้า และ ยาเสพติดให้เขา เพื่อหวังจะเอาบุญ อย่างนี้คิดว่าเราจะได้บุญหรือไม่ ?

แต่ถ้าคิดทางกลับกันถ้าเราคนไทยนับถือศาสนาพุทธ และ ทำบุญตามที่พุทธบัญญัติไว้อย่างถูกต้อง ประเทศเราจะน่าอยู่มากขนาดไหน

แต่ในปัจจุบันนี้คนในประเทศเราทำบุญกันเยอะมากแต่กลับเจอแต่สิ่งที่ไม่ดี ติดหนี้สิน เจอภัยพิบัติ เราเคยกลับมาคิดกันไหมว่าผลบุญที่เราทำไปไม่ช่วยเราบ้างเลยหรือ?

ถ้าทำถูกต้องได้บุญมากมาย แต่ถ้าทำผิดก็ได้บาปมากมายเช่นกัน

ลองคิดกันดูนะครับ

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ผู้ที่เป็นเจ้านายควรระวัง !!!

ผู้ที่เป็นเจ้านายควรระวัง !!!


ช่วงนี้ไม่ค่อยได้มา update blog เท่าที่ควรครับ เพราะงานเยอะและมีปัญหาด้านต่างๆเข้ามาแต่ก็ต้องทำใจยอมรับครับว่า มันเป็นกรรมของเราเอง ถ้าเราไม่รับผลกรรมนั้นใครจะมารับแทนเรา ถึงแม้ว่าเราจะจำไม่ได้ว่าทำอะไรไว้บ้าง แต่ก็ต้องรู้ครับว่าถ้าเราไม่ได้ทำกรรมนั้นไว้ กรรมนั้นจะทำอะไรเราไม่ได้แน่นอนครับ

ช่วงนี้มีเรื่องที่น่าคิดอยู่ 1 เรื่องครับ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิต คือเรื่องงาน สังเกตุไหมครับว่าเจ้าของกิจการต่างๆในประเทศเรานั้นส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนครับ
"ต้องขอโทษคนไทยเชื้อสายจีนทุกท่านด้วยนะครับ แต่เรื่องที่จะเขียนนี้เป็นเฉพาะบ้างท่านที่ผมได้พบเจอครับ"

ส่วนใหญ่คนไทยเชื้อสายจีนเท่าที่ผมเห็นและรู้จักนั้นมีบุญด้านโภคทรัพย์แสดงผลมากครับเพราะทำกิจการต่างๆประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าพื้นฐานอาจจะยากจนมาก่อน แต่พอบุญนั้นแสดงผลแล้วทำให้มีความร่ำรวยมากขึ้นครับ

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าคนไทยเชื้อสายจีนถ้ามองในมุมของศาสนาพุทธนั้นจะรักษาทรัพย์ไม่ถูกต้องตามศาสนาพุทธครับ เพราะยังติดไหว้เจ้า ไหว้ผี ไหว้บรรพบุรุษอยู่ แต่ก็เป็นความเชื่อและธรรมเนียมของเขาครับ 

ซึ่งตามพุทธศาสนาและการลงทุนแล้ว บุญที่ได้ไม่คุ้มค่ากับราคาหมู เห็ด เป็ด ไก่ ที่ซื้อไปเลยครับ ลองหาอ่านตามบทความที่ผมเคยเขียนนะครับว่าทำบุญอย่างไรถึงจะได้ผลบุญเยอะครับ เช่น 
ซื้อไก่ 1 ตัวทำบุญอย่างไรจะได้ เป็น 100 เท่า 1,000 เท่า ครับ

*****************************************************

อีก 1 อย่างที่พบเห็นเยอะคือ เป็นคนขี้เหนียวและหวงทรัพย์สมบัติ ข้อนี้ไม่ว่าจะเป็นคนไทยเชื่อสายจีน หรือคนไทยแท้ มีให้พบเห็นกันมากครับ  เรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเป็นอันตรายครับตามบทที่ยกมาให้ศึกษาครับ

คนหวงทรัพย์ตายไปเกินเป็นสัตว์เฝ้าทรัพย์

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 191
.
.
พระราชารับสั่งให้เปิดประตู     เสด็จไปถึงฝั่งน้ำ   ตรัสว่า   พวกเจ้า
จงค้นดู      แล้วรับสั่งให้ค้นหาในที่นั้น ๆ    ไม่มีใครเห็นพระกุมาร
ฝ่ายพระกุมารนั้นเล่า     ในเวลาที่เมฆมืดครึ้ม     ฝนตกกระหน่ำ
ลอยไปในแม่น้ำ  เห็นท่อนไม้ท่อนหนึ่ง  จึงเกาะท่อนไม้  อันมรณภัย
คุกคามแล้ว  ร้องคร่ำครวญลอยไป.
ก็ในกาลนั้น    เศรษฐีชาวเมืองพาราณสีผู้หนึ่ง    ฝังทรัพย์
๔๐   โกฏิไว้ที่ฝั่งแม่น้ำ    เพราะความเป็นห่วงทรัพย์     ตายไปจึง
ไปเกิดเป็นงูอยู่เหนือขุมทรัพย์.     ยังมีอีกผู้หนึ่งฝังสมบัติไว้ตรงนั้น
เหมือนกัน    ๓๐   โกฏิ   เพราะความเป็นห่วงทรัพย์    ตายไปบังเกิด
เป็นหนูอยู่ในที่นั้นเหมือนกัน.
.
.
.
*****************************************************

และอีก 1 สิ่งที่ผมเจอ คือ พูดง่ายๆว่าคนที่ขี้โกงคนครับ โดยเฉพาะเจ้านายที่ชอบโกงและเบียดเบียนลูกน้องเพราะห่วงในทรัพย์ของตนเอง เช่น

ในการจ้างงานมีการตกลงกันว่าจะจ่ายค่าจ้างให้เดือนละเท่านี้ เป็นเวลาในช่วงทดลองงานกี่เดือน และเมื่อผ่านช่วงทดลองงาน แล้วจะขึ้นเงินเดือนให้เท่านี้  ต่างฝ่ายต่างตกลงกันและรับจ้างงานกันตามที่ตกลงไว้นี้ แต่พอผ่านช่วงทดลองงานแล้วนายจ้างไม่ทำตามที่ตนเองรับปากไว้โดยหาข้ออ้างต่างๆ อาจจะบิดเบือนคำพูด หรืออะไรก็ตาม เพราะยังไม่อยากขึ้นเงินเดือนให้

แค่นี้ก็เท่ากับว่าผิดศีลไป 3 ข้อแล้วครับ และผิดสัจจะที่ได้ให้ไว้ด้วยครับ คือ

1.ไม่ทำตามที่ตกลงกันจงใจที่จะผิดสัญญาที่ให้ไว้ โดยหาข้ออ้างต่างๆ เท่ากับ นายจ้างผิดศีลข้อโกหก

2.ลูกจ้างไม่ได้เงินเดือนตามที่เขาสมควรจะได้โดยที่เข้าไม่ได้มีความผิดอะไร ที่ถึงกับไม่สมควรจะไม่ให้เขาผ่านการทดลองงาน เท่ากับ นายจ้างลักทรัพย์ลูกจ้าง เช่น ให้เงินเดือน 9,000 บาท ผ่านทดลองงาน จะให้เป็น 10,000 บาท เท่ากับว่านายจ้างลักทรัพย์ ลูกจ้างไป 1,000 บาท ยิ่งต่อเวลาทดลองงานหลายเดือนก็จะยิ่งผิดลักทรัพย์มากขึ้นเรื่อยๆ

3.จากการที่ลูกจ้างไม่ได้ผ่านงานเงินเดือนไม่ขึ้นก็อาจจะทำให้เขาอยู่ยากมากขึ้น เท่ากับ นายจ้างผิดศีลขอเบียดเบียนสัตว์ยิ่งต่อเวลาทดลองงานหลายเดือนก็จะยิ่งผิดเบียดเบียนสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนในทางโลกนั้น แน่นอนว่าลูกจ้างนั้นก็จะไม่รักและทำงานให้บริษัทอย่างเต็มที่แน่นนอนครับ

*****************************************************

ดังนั้นถ้ากิจการของท่านกำลังยำแย่ และได้กำไรน้อยลง หรือขาดทุน มันอาจจะมาจากที่กล่าวมานี้ก็ได้ครับ ลองมองดูนะครับว่าท่านทำกับลูกน้องท่านอย่างนี้หรือเปล่า เพราะถ้าบริษัทยิ่งใหญ่ แล้วทำผิด ยิ่งเบียดเบียนคนมากนะครับ

แต่ถ้ากลับกันถ้ารู้จักการให้มันก็เป็นทานที่จะช่วยให้ท่านเจริญ และมีโภคทรัพย์มากขึ้นครับ
สิ่งที่ได้แน่ๆคือ ลูกน้องจะรัก และ ทำงานให้ท่านอย่างเต็มความสามารถแน่นอนครับ

ฝากไว้ 2 อย่างครับ

1.ในสัมมาทิฏฐิ 10 ประการ ข้อที่ 1.ทานให้แล้วมีผล ครับ
2.ขโมยเงิน 1 บาทจาก 100 คน กับ ขโมยเงิน 100 บาท จากคน 1 คน ผลคือ ได้เงิน 100 บาท เท่ากัน แต่บาปที่ได้ แตกต่างกันอย่างมากมายครับ

วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ละอายไหมจากคำพูดที่ว่า " เราเป็นชาวพุทธ "

ละอายไหมจากคำพูดที่ว่า " เราเป็นชาวพุทธ "



ตั้งแต่เกิดจนถึงจำความได้เราทุกคนที่พ่อ แม่ นับถือศาสนาพุทธ เราจะเป็นชาวพุทธโดยสถานะโดยอัตโนมัติ

แต่เรานั้นรู้จักคำว่าพุทธจริงๆ หรือ ไม่ ?

รู้จักแค่ พุทธรูป การสวดมนต์ และพระ แต่ไม่รู้จัก พุทธเจ้า ธรรม สงฆ์ จริงๆเลย

ไม่รู้จักว่าพระพุทธเจ้าของเรายอดเยี่ยมขนาดไหน
ไม่รู้จักธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ว่าจริงแท้แค่ไหน
ไม่รู้จักว่าพระสงฆ์จริงต้องปฏิบัติตนเช่นไร

อย่างนี้เราจะเรียกตัวเองว่าเป็นชาวพุทธได้หรือไม่ ?

จนทำให้ทุกวันนี้พูดเรื่องศาสนาแล้วคนเราไม่รู้ว่าพระทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง จนกลายเป็นว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจไป เช่น

พระรับเงิน ทองไม่ได้
พระขุดดินไม่ได้
พระตัดต้นไม้ไม่ได้
พระจับพืชที่มีรากไม่ได้
พระปลูกต้นไม้ไม่ได้
พระไม่มีฉันเพล

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราเห็นกันจนชินตา แต่กับทราบกันไหมว่าพระทำไม่ได้ ถ้าทำต้องอาบัติ เพราะพระก็มีบทลงโทษเช่นกันตามความหนักเบาของการกระทำผิดนั้นๆ
ถ้าสิ่งที่ยกตัวอย่างมาท่านที่อ่านลองถามตัวเองว่าทราบหรือไม่ ถ้าท่านไม่ทราบแล้วอย่างนี้ท่านควรจะเรียกตนเองว่าชาวพุทธได้หรือไม่ครับ

ซึ่งไม่แปลกที่โยมในสมัยนี้จะไม่ได้ศึกษาพระวินัย
แต่เป็นเรื่องแปลกของผู้ที่บวชเป็นพระแล้วไม่ได้ศึกษากฏกติกาและข้อปฏิบัติของตน

ยกตัวอย่าง เช่น

ถ้าเราเป็นนักฟุตบอลเราก็ต้องรู้และปฏิบัติตามกฏกติกาของฟุตบอล
ถ้าเราเป็นคนไทยก็ต้องรู้และปฏิบัติตามกฏกติกาของประเทศไทย กฏหมายไทย
ถ้าเป็นพระต้องรู้และปฏิบัติตามธรรมวินัยของพระศาสดาที่บัญญัติไว้

เมื่อเราไม่รู้เราก็สามารถศึกษาและปฏิบัติตนให้สมกับที่เราเป็นชาวพุทธได้ครับ
และเราถึงจะพูดว่าเราเป็น " ชาวพุทธ " ได้เต็มปากและภาคภูมิใจครับ

ถึงฟังเทศจากพระที่มีชื่อเสียงก็อย่างเพิ่งเชื่อง่ายๆ

ถึงฟังเทศจากพระที่มีชื่อเสียงก็อย่างเพิ่งเชื่อง่ายๆ


จากในช่วงนี้มีเรื่องพระออกรายการต่างๆมากมาย รวมถึงข่าวต่างๆ ผมก็ได้ลองหาไฟล์ใน Youtube เพื่อหาฟังคำสอนของแต่ละท่านที่มีข่าวออกมาว่าท่านไหนจริงหรือปลอม

ต้องบอกว่าเรานั้นมีความโชคดีอยู่ครับว่า เทคโนโลยีสมัยนี้ทำให้เราศึกษาพระธรรมคำสอนได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียค่ารถหรือเสียเวลาไปฟังที่วัดหรือที่อื่นเลย

เพราะจะหาพระที่ว่าดีจริงๆนั้นเราอาจจะต้องนั่งรถข้ามจังหวัดกันเลยทีเดียว และเรานั้นสามารถหาอ่านพระไตรปิฏกออนไลท์ได้เลยครับ

บ้างท่านอาจจะถามว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องฟังจากองค์ไหน องค์ไหนดีจริง
คำตอบคือองค์ไหนที่เรารู้สึกสนใจก็ฟังไปเถอะครับ และที่สำคัญคือ ต้องหาคำตอบตรวจสอบ เทียบเคียงจากพระไตรปิฏกด้วยว่าที่ท่านเทศสอนนั้นตรงตามพระบัญญัติหรือไม่

หรือถ้าใครไม่แน่ใจกับพระ ก็ลองอ่านในพระไตรปิฏกโดยตรงเลยดีที่สุดครับ

วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

อย่าเชื่อสิ่งใดง่ายๆ

อย่าเชื่อสิ่งใดง่ายๆ



วันนี้ผมได้อ่านบทความเกี่ยวกับศาสนาของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งตามลิงค์ด้านล่าง

http://www.komchadluek.net/detail/20130730/164586/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C.html#.Ufh259LwnqH

ซึ่งผมไม่ขอพูดเรื่องที่เขาเขียนถึงบุคคลในบทความนั้น แต่มีคำกล่าวเริ่มต้นที่ทำให้ผมคิดติดใจและเขียนบทความนี้ขึ้นมา

บทความบางส่วน

บทเรียนจากการไล่ล่า'พระอรหันต์'
บทเรียนจากการไล่ล่า'พระอรหันต์' : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพิสุทธิ์ เกรียงบูรพา เรื่อง พงษ์พัฒน์ ไตรพิพัฒน์ ภาพ
          โดยทัศนะส่วนตัว ผมเห็นว่าชาวพุทธเราส่วนใหญ่ ยังคงชอบ 'ไล่ล่าหาพระอรหันต์' กันอยู่ บ้างก็เพื่อกราบไหว้บูชาเป็นสิริมงคล, บ้างก็จะไปขอส่วนสรีระของท่านมาบูชา ไม่ว่าจะเป็นกระดูก ฟัน หรือแม้แต่ 'ขี้' ก็เอา บ้างก็เพื่ออยากได้ บุญ-ทาน ที่หว่านลงบนเนื้อนาบุญอันบริสุทธิ์ เพื่อเปี่ยมอานิสงส์สูงสุด ไม่รู้ไปเชื่อตำราที่ไหนมา ที่ว่า การทำบุญแบบทวีคูณ คูณแฟกเตอร์ ๑๐๐ เท่าไปเรื่อยๆ จาก ทำทานต่อสัตว์เดรัจฉาน ได้บุญน้อยกว่ากับคนทุศีล ๑๐๐ เท่า ทำทานแก่คนทุศีล ได้บุญน้อยกว่าคนมีศีล ๕  ถึง ๑๐๐ เท่า  ฯลฯ ทำบุญแด่พระธรรมดาๆ หรืออริยสงฆ์ชั้นต้น ก็ยังได้บุญน้อยกว่า พระอรหันต์ เป็นต้น ไล่ไปเรื่อยๆ ฯลฯ กระทั่งถึง ธรรมทาน การให้ธรรมะเป็นทานสูงสุด
          พุทธบริษัทเรา จึงเฝ้าเค้นหาล่าพระอรหันต์มาให้ได้แบบองค์เป็นๆ เพื่อจะได้อานิสงส์แห่งบุญสูงๆ เพราะเป็นขั้นเกือบสูงสุดทีเดียว นี้คือ ความบ้า อย่างหนึ่งผมไม่แน่ใจนักว่า ทฤษฎีทวีคูณ ทีละร้อยๆ แบบนี้ จะถูกต้องหรือไม่ แต่ผมรู้เรื่องที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนมาอย่างหนึ่งนะครับว่า  ท่านไม่เคยสอนให้เรา อยากได้ อยากมี อยากเป็น แม้แต่การทำบุญทำทาน ก็เป็นไปเพื่อ สละ ละอัตตา ตัวตน เพื่อความไม่มี ไม่เอา ไม่เป็น ทั้งสิ้น ดังนั้น ใครก็ตามที่คิดไล่ล่าหาพระอรหันต์มาทำบุญ เพื่อตัวกูของกู จะได้มีบุญวัตถุที่สูงๆ ขึ้นไปนั้น ไม่น่าจะถูกต้องตามพระพุทธประสงค์เลย
.
.
.
.

โดยถ้าอ่านโดยรวมของบทความทั้งหมดแล้ว นั้นได้ให้ข้อคิดต่อผู้อ่านมากครับ 
(สามารถอ่านบทความเต็มได้จาก 
http://www.komchadluek.net/detail/20130730/164586/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C.html#.Ufh259LwnqH)
แต่การเขียนเรื่องศาสนานั้นต้องระวัง ถ้าเกิดเราเขียนผิด แล้วมีผู้เข้าใจผิด แล้วไปปฏิบัติตามผิดๆ เรานั้นได้บาปแน่นอนอย่างที่ทำไฮไลท์สีไว้

"ไม่รู้ไปเชื่อตำราที่ไหนมา ที่ว่า การทำบุญแบบทวีคูณ คูณแฟกเตอร์ ๑๐๐ เท่าไปเรื่อยๆ จาก ทำทานต่อสัตว์เดรัจฉาน ได้บุญน้อยกว่ากับคนทุศีล ๑๐๐ เท่า ทำทานแก่คนทุศีล ได้บุญน้อยกว่าคนมีศีล ๕  ถึง ๑๐๐ เท่า  ฯลฯ ทำบุญแด่พระธรรมดาๆ หรืออริยสงฆ์ชั้นต้น ก็ยังได้บุญน้อยกว่า พระอรหันต์ เป็นต้น ไล่ไปเรื่อยๆ ฯลฯ กระทั่งถึง ธรรมทาน การให้ธรรมะเป็นทานสูงสุด"

ซึ่งข้อความนี้ไม่ทราบว่าผู้เขียนได้อ่านจากพระไตรปิฏกหรือไม่ หรือว่าอ่านฉบับไหน ถึงไม่เจอพระสูตรที่อ้างเรื่องนี้


๑๒.   ทักษิณาวิภังคสูตร
.
.
.
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 394

[๗๑๑]  ดูก่อนอานนท์  ใน ๑๔ ประการนั้น     บุคคลให้ทานในสัตว์
เดียรัจฉาน  พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า  ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล  พึงหวังผล
ทักษิณาได้พันเท่า     ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล    พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า.
ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม   พึงหวังผลทักษิณาได้
แสนโกฏิเท่า.    ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง    พึงหวังผล
ทักษิณาจะนับไม่ได้     จะประมาณไม่ได้    จะป่วยกล่าวไปไยในพระโสดาบัน
ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง   ในพระสกทาคามี   ในท่านผู้ปฏิบัติ
เพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง    ในพระอนาคามี    ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผล
ให้แจ้ง   ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์    ในปัจเจกสัมพุทธะ    และใน
ตถาคตอรหันต์  สัมมาสัมพุทธเจ้า.
.
.
**************************************

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 775
๑๐. เวลามสูตร
ว่าด้วยการให้ทานที่มีผลมาก

[๒๒๔] สมัยหนึ่ง   พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่   ณ  พระ-
วิหารเชตวัน    อารามของท่านอนาถบิณฑิกเครษฐี    ใกล้ประนคร
สาวัตถี    ครั้งนั้นแล    ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มี-

วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ทัศนศึกษาธรรม คณะกฐิน ผ้าป่า ไหว้พระ 9 วัด ได้บุญหรือบาป ?

ทัศนศึกษาธรรม คณะกฐิน ผ้าป่า ไหว้พระ 9 วัด ได้บุญหรือบาป ?


ช่วงนี้เป็นช่วงเข้าพรรษาเห็นเด็กแต่งชุดขาวเข้าวัดตามที่โรงเรียนจัดกิจกรรมมากมายรวมทั้งหลานของผมด้วย
แต่พอได้ศึกษาพระธรรมและการทำผิดต่างๆนาๆ เลยนึกถึงสมัยเรียนที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนั้นพาไปทำบุญ ไหว้พระ 7 วัด 9 วัด ทัศนศึกษาธรรมต่างๆ คณะแสวงบุญตะเวนทำบุญตามที่ต่างๆ โดยหารู้ไหมว่าจากที่เด็กคิดว่าจะได้บุญ แต่อาจจะได้บาปกันถ้วนหน้า ถ้าผู้ใหญ่ที่จัดนั้นพาทำไม่ถูกต้องครับ

ยิ่งมีข่าวว่ารถประจำทางประสบอุบัติเหตจากการที่กลับบ้านไปทำบุญช่วงวันหยุดยาวอาสาฬหบูชา และ เข้าพรรษาด้วยแล้วยิ่งสลดใจมากครับ ขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตด้วยครับ

จึงน่าคิดหรือไม่ครับว่าทำไมทำบุญแล้วกับต้องมาเสียชีวิตอย่างทุกข์ ทรมานอย่างนั้น ผลบุญที่ทำไม่ได้ช่วยบ้างเลยหรือ ?
เราทำบุญผิดหรือทำถูกต้อง ?
ถ้าเราทำบุญถูกต้องจริงทำไมต้องมาเจอเรื่องราวอย่างนี้ด้วย ?

ฝากให้คิดกันครับ แต่ถ้าผู้ใดหาคำตอบไม่ได้ลองศึกษาพระไตรปิฏกดูครับมีคำตอบให้ในทุกๆเรื่องครับ

โดยส่วนตัวผมคิดว่าไหว้พระหรือทำบุญแบบผิดๆ 1 วัด ก็แย่แล้ว แต่นี้ 9 วัด จะแย่ขนาดไหน แล้วชีวิตเราจะดีขึ้นไหม
ส่วนเรื่องทอดกฐินไม่ต้องพูดถึงเลยครับ เพราะในปัจจุบันทำกฐินผิดไปจากหลักธรรมอย่างมากครับ โดยนำเงินไปถวายเลย โดยไม่ดูเลยว่าพระรับเงินไม่ได้ พระรับมาเพื่อ.......ไม่ได้ พระรับมาเพื่อสร้าง.......ไม่ได้ ครับ
แต่ถ้าเราทำถูก ทำบุญถูก 1 วัดได้บุญขนาดไหน และถ้าถูก 9 วัดหละ จะเป็นบุญมากขนาดไหนครับ

ลองคิดดูว่าเราไปทัศนศึกษาไหว้พระ 9 วัดกันเพื่ออะไร

1.พักผ่อน
2.ไปดูวัดที่สวยงาม (ติดรูป ตายไปตกนรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรฉาน)
3.ไปทำบุญที่วัด (ทำแบบผิดๆ ให้เงิน ให้ทองพระ บาป)
4.ไปไหว้พระเพื่อเป็นศิริมงคล (ติดรูป ตายไปตกนรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรฉาน และไม่ได้ศิริมงคลด้วย)
5.เพื่อให้รู้ว่าเราเป็นเมืองพุทธ


ติดรูป ตายไปตกนรกนรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรฉาน

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 357
๘.  อาทิตตปริยายสูตร
ว่าด้วยอาทิตตปริยายและธรรมปริยาย

[๓๐๓]  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอาทิตตปริยายและธรรม
ปริยายแก่เธอทั้งหลาย   เธอทั้งหลายจงฟัง   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   อาทิตต-
ปริยายและธรรมปริยายเป็นไฉน.     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย    บุคคลแทงจัก-
ขุนทรีย์ด้วยหลาวเหล็กอันร้อนไฟติดลุกโพลงแล้ว    ยังดีกว่า    การถือนิมิต
โดยอนุพยัญชนะในรูป    อันจักขุวิญญาณพึงรู้แจ้ง    จะดีอะไร    วิญญาณ
อันตะกรามด้วยความยินดีในนิมิต      หรือตะกรามด้วยความยินดีในอนุ-
พยัญชนะ  เมื่อตั้งอยู่ก็พึงตั้งอยู่ได้  ถ้าบุคคลพึงทำกาลกิริยาเสียในสมัยนั้น
ไซร้  ข้อที่บุคคลจะพึงเข้าถึงคติ  ๒  อย่าง  คือ  นรกหรือกำเนิดสัตว์
เดียรฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง  ก็เป็นฐานะที่จะมีได้  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เราเห็นโทษอันนี้  จึงกล่าวอย่างนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุคคลเกี่ยวโสตินทรีย์ด้วยขอเหล็กอันคม
ไฟติดลุกโพลงแล้ว  ยังดีกว่า  การถือนิมิตโดยอนุพยัญชนะในเสียงอัน
โสตวิญญาณพึงรู้แจ้ง  จะดีอะไร  วิญญาณนิมิตโดยอนุพยัญชนะในเสียงอัน
นิมิตหรือตะกรามด้วยความยินดีในอนุพยัญชนะเมื่อตั้งอยู่ก็พึงตั้งอยู่ได้

วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

คู่มือดูพระแท้

คู่มือดูพระแท้


ช่วงนี้มีข่าวของพระออกมารายวัน  บทความนี้ผมจึงขอยกบทความของผู้ที่ศึกษาพระธรรมที่ผมเอาเป็นแบบอย่างอีก 1 ท่าน  มาให้อ่านนะครับ และ แนบด้วยไฟล์หนังสือ "คู่มือดูพระแท้" ฉบับธรรมทาน ซึ่งอ่านและเข้าใจง่ายครับสำหรับผู้ที่อยากศึกษาและข้อที่เราควรรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อพระครับ


ณัฐพบธรรม

ขอความร่วมมือ ขอความช่วยเหลือ !!

เกี่ยวกับ ข่าวค(ร)าวพระสงฆ์ ในช่วงที่ผ่านมา
และความรู้ที่จำเป็น สำหรับชาวพุทธทุกคน

(เป็นประโยชน์ และได้บุญมาก)
(โพสท์ซ้ำ เผื่อบางคนไม่เห็น)
-----------------------------------------------
จากที่ผมได้โพส์เอาไว้ว่า หากชาวพุทธ"ส่วนใหญ่"
มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และดีงาม
มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระวินัยในระดับหนึ่ง
-----------------------------------------------------
เราก็จะได้ชาวบ้านที่มีความรู้ว่า 
การทำบุญกับพระแบบไหนควรทำ แบบไหนไม่ควรทำ
พระแบบไหนที่ควรกราบไหว้ควรเข้าใกล้
ทำให้พระที่ผิดศีล และสอนผิดๆมีน้อยลง
และทำให้พระที่มีศีล สอนสิ่งที่ถูกต้องมีมากขึ้น

และความรู้นั้นก็จะทำให้ชาวบ้านแบบเราๆ
เวลาบวชเป็นพระ ก็จะรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ
----------------------------------------------------
สิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลให้เรา
สามารถสร้างสังคมที่มีแต่"พระแท้" 
ตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเอาไว้
ซึ่งพระเหล่านั้น ก็จะเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธเจ้า
และปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม น่าเคารพกราบไหว้
(ไม่ใช่เอาแต่สร้างความเสื่อมเสีย และทำลายศรัทธา)
----------------------------------------------------
ในวันนี้ผมจึงอยากจะขอความร่วมมือและความช่วยเหลือจากทุกท่าน
ช่วยกันกระจาย"ความรู้" ดังกล่าวไปให้มากที่สุด
----------------------------------------------------
โดยผมได้นำเอาเนื้อหาในบทที่สำคัญ(บางบท)
จากหนังสือ "คู่มือดูพระแท้"
มาทำเป็นไฟล์ pdf ให้สามารถ Download ได้ฟรี !
(ได้คุยกับทางอมรินทร์แล้ว และขอบคุณ คุณ @Toon Sittha ที่ช่วยจุดประกายความคิดนี้)

(อ่านเกี่ยวกับหนังสือ คู่มือดูพระแท้ได้ตามลิงค์http://www.nutpobtum.com/index.php?mo=3&art=41996775 )
----------------------------------------------------

โดยความร่วมมือและความช่วยเหลือที่ผมต้องการนั้น
"ไม่ใช่" แค่การแชร์ข้อความนี้ หรือแชร์ลิงค์
แต่อยากจะขอให้ช่วยกระจายไฟล์ดังกล่าวไปให้"มากที่สุด"
มีคนได้อ่าน"มากที่สุด" ด้วยวิธีการไหนก็ได้

เช่น โหลดไฟล์จากลิงค์ด้านล่าง แล้วนำไฟล์ไปฝากเอาไว้ที่เวบอื่น ให้ในคนได้โหลดฟรี
หรือ โหลดไฟล์จากลิงค์ด้านล่าง แล้วแนบไฟล์ไปกับ E-mail แล้วส่งให้เพื่อนๆทุกคนช่วยกระจายต่อ

(คลิ้กที่คำว่า download ที่อยู่เหนือคำว่า "แจ้งลบไฟล์นี้ !")

(ทำอย่างไรก็ได้ครับ เพราะผมไม่หวง และยินดีให้เผยแพร่ให้มากทีสุด)
----------------------------------------------------
ขอขอบคุณทุกท่านล่วงหน้า
สำหรับความร่วมมือและความช่วยเหลือนี้
ที่เราทุกคนจะช่วยกันทำให้ศาสนาพุทธในประเทศไทยดีขึ้น
ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์มาก และได้บุญมาก
ขอบคุณครับ _/\_
----------------------------------------------------

ณัฐพบธรรม

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ระดับของผู้ปฏิบัติเพื่อนิพพาน

ระดับของผู้ปฏิบัติเพื่อนิพพาน


ในการปฏิบัติธรรมเพื่อให้ถึงนิพพานนั้น ส่วนใหญ่เราจะรู้จักบุคคลอยู่ 2 ระดับคือ
1.พระโสดาบัน
2.พระอรหันต์

แต่จริงๆแล้วจะมีบุคคลอยู่ 4 ระดับ ได้แก่
1.พระโสดาบัน
2.พระสกทาคามี
3.พระอนาคามี
4.พระอรหันต์

ตามที่ได้ระบุไว้ตามบทต่อไปนี้ครับ และผู้ที่ปฏิบัติแต่ระดับเป็นอย่างไรครับ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 15

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะเป็นไฉน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย    ภิกษุในศาสนานี้      เพราะสิ้นไปแห่งสังโยชน์สาม  เป็น
โสดาบัน   มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา   เป็นผู้เที่ยง   มีการตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  นี้สมณะ.  สกทาคามี  ชื่อว่า สมณะที่ ๒.  ด้วยเหตุนั้นแล
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะที่ ๒เป็นไฉน ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย      ภิกษุในศาสนานี้เป็นสกทาคามี      เพราะสังโยชน์สามสิ้นไป
เพราะความที่ราคะ  โทสะ  และโมหะ   เบาบางกลับมาสู่โลกนี้   ครั้งเดียวเท่านั้น
ก็จะทำที่สุคแห่งทุกข์ได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  นี้สมณะที่ ๒ ดังนี้.  พระอนาคามี
ชื่อว่า  สมณะที่ ๓.  ด้วยเหตุนั้นแล  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย  ก็สมณะที่ ๓ เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้  เพราะ
ความสิ้นไปแห่งสังโยชน์เบื้องต่ำ  ๕  อย่าง   เป็นอุปปาติกะ    ปรินิพพานในภพ
นั้น ไม่เวียนกลับมาจากโลกนั้น  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  นี้สมณะที่ ๓. พระอรหันต์
ชื่อว่า  สมณะที่  ๔  ด้วยเหตุนั้นเเล  พระผู้มีพระภาคเจ้า  จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย ก็สมณะที่  ๔ เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้  กระทำ
ให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ  ปัญญาวิมุตติ  อันหาอาสวะมิได้  เพราะความสิ้นไปแห่ง
อาสวะทั้งหลายด้วยอภิญญาของตนเอง เข้าถึงอยู่ในทิฏฐธรรมเทียว ดูก่อนภิกษุ
ทั้งหลาย   นี้สมณะที่ ๔.

บัญญัติสิกขาบท

บัญญัติสิกขาบท


ขณะนี้มีเรื่องพระออกมาอย่างมากมาย เพราะว่าอะไร ?
ในความคิดของผมนั้นในปัจจุบันถ้าใครมาพูดเรื่องศาสนา หรือพระนิพพาน คนอื่นเขาจะมองว่าเรา บ้า ครับ  เพราะว่าโลกนั้นก้าวไปเร็วและมีวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ทั้งที่คนไทยก็พูดกันว่าเป็นพุทธ นับถือพุทธ แต่พอพูดเรื่องพระนิพพานที่เป็นหัวใจของศาสนากลับโดนมองว่าไร้สาระ ผมก็ไม่เข้าใจเช่นกัน
แต่ก็ว่ากันไม่ได้ครับก่อนหน้าที่ผมจะมาศึกษาเรื่องนี้ก็คิดว่ามันเป็นเรื่องไกลเกินตัวเองเช่นกัน แต่พอศึกษาแล้วมันไม่ได้ไกลเกินไปเลยครับ
สุดท้ายก็มีข่าวออกมามากมายครับว่าพระเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ปฏิบัติตนเหมาะสมหรือไม่ แล้วเราก็ว่าแต่พระฝ่ายเดียว  กลับไม่มองดูตัวเราเลยว่าเราเคยศึกษาที่ถูกต้องไหม  สิ่งของที่นำไปถวายถูกต้องตามพระวินัยไหมพระสามารถรับไว้ได้หรือเปล่า  เพราะพระส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ศึกษาเช่นเดียวกับเราครับ
และคำพูดสุดคลาสสิค 1 คำ คือ "นี้มันสมัยไหนแล้ว" นี้ละครับคือสิ่งที่ส่งเสริมให้ทั้งคนทั้งพระเป็นแบบทุกวันนี้

ในการบัญญัติสิกขาบทพระพุทธเจ้าอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ  ซึ่ง ๑๐ ประการนั้นครอบคลุมและถือว่าไม่ได้ทำให้พระภิกษุผู้ปฏิบัตินั้นอยู่ยากครับ และป้องกันสิ่งต่างๆที่จะทำให้ศาสนาเสื่อม และท่านระบุชัดเจนว่ามีท่านผู้เดียวที่สามารถบัญญัติสิกขาบท และบทลงโทษต่างๆได้ครับ


การบัญญัติสิกขาบทพระพุทธเจ้าอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   เพราะเหตุนั้นแล    เราจักบัญญัติสิกขาบท
แก่ภิกษุทั้งหลาย  อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ    คือ  
เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์  ๑     
เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑     
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑     
เพื่อยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก  ๑      
เพื่อป้องกันอาสวะอันจะเกิดในปัจจุบัน  ๑       
เพื่อกำจัดอาสนะอันจักบังเกิดในอนาคต  ๑    
เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑   
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว  ๑ 
เพื่อความตั้งมั่น แห่งพระสัทธรรม ๑   
เพื่อถือความพระวินัย  ๑

*******************************************************

พระพุทธเจ้าสามารถบัญญัติสิกขาบทได้เพียงผู้เดียว

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 236

เพราะฉะนั้น   ธรรมดาว่าการทรงบัญญัติสิกขาบท   ในเมื่อเรื่องลง
กันได้อย่างนี้ว่า  นี้โทษเบา  นี้โทษหนัก   นี้เป็นความผิดแก้ไขไม่ได้   นี้
เป็นอาบัติ   นี้ไม่เป็นอาบัติ    นี้เป็นอาบัติถึงชั้นเด็ดขาด     นี้เป็นอาบัติถึง
ขั้นอยู่กรรม  นี้เป็นอาบัติขั้นแสดง  นี้เป็นโลกวัชชะ  นี้เป็นปัณณัตติวัชชะ
ควรบัญญัติข้อนี้เข้าในเรื่องนี้   ดังนี้  ในการทรงบัญญัติสิกขาบทนั้น  ผู้อื่น
ไม่มีปรีชาสามารถ      เรื่องนี้มิใช่วิสัยของผู้อื่น     เป็นวิสัยของพระตถาคต
เท่านั้น.  ดังนั้น   การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงถึงฐานะ  คือ ทรงบัญญัติ
พระวินัยดังนี้   ทรงบันลือจึงเป็นการยิ่งใหญ่   พระปรีชาญาณก็ติดตามมา
ประกอบด้วยสุญญตา   ดังนี้แล.

*******************************************************

ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าพระปฏิบัติตามธรรมวินัยให้ถูกต้องสมกับที่บวชในศาสนานี้ และคนอย่างน้อยศึกษาพระไตรปิฏกฉบับประชาชนให้รู้ว่าสิ่งไหนควร ไม่ควร ถูก หรือ ผิด ประเทศไทยเราน่าจะน่าอยู่มากขึ้นกว่านี้อีกมากครับ และพระจะเป็นเนื้อนาบุญ  เพื่อให้โยมได้ทำบุญ  ที่ได้บุญจริงๆ  กันอย่างมากมายครับ

พระแม่ธรณี

พระแม่ธรณี



ถ้าพูดชื่อบุคคลผู้หนึ่งขึ้นมาผมเชื่อว่าทุกท่านคงจะรู้จักกันแน่นอน คือ พระแม่ธรณี
เรื่องของท่านผู้นี้มีอยู่ว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้นั้นมีพญามารมาขัดขวาง และพระแม่ธรณีผู้นี้ได้ปรากฏตัวเพื่อยืนยันถึงบุญบารมีที่พระพุทธเจ้าได้ทำไว้อย่างมากมาย และได้บิดมวยผมจนทำให้น้ำท่วมเหล่ามาร จนเหล่ามารนั้นก็หนี้ไปจนหมด

แต่พอไปอ่านในพระไตรปิฏกกลับไม่มีพระแม่ธรณีผู้นี้อยู่ครับ !!!


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 721
ข้างซ้ายก็อย่างนั้น    แต่ข้างหลัง    ตั้งอยู่สุดจักรวาล    เบื้องบนสูง  ๙  โยชน์.
ได้ยินเสียงคำราม   ดังเสียงแผ่นดินคำราม   ตั้งแต่เก้าพันโยชน์.
สมัยนั้น     ท้าวสักกเทวราช   ทรงยืนเป่าสังข์    ชื่อวิชยุตตระ   เขาว่า
สังข์นั้น    ยาวสองพันศอก.  คนธรรพ์เทพบุตรชื่อปัญจสิขะ  ถือพิณสีเหลืองดัง
ผลมะตูม   ยาวสามคาวุตบรรเลง    ยืนขับร้องเพลงประกอบด้วยมงคล     ท้าว-
สุยามเทวราช   ทรงถือทิพยจามร   อันมีสิริดังดวงจันทร์ยามฤดูสารท    ยาวสาม
คาวุต    ยืนถวายงานพัดลมอ่อน ๆ.    ส่วนท้าวสหัมบดีพรหม    ยืนกั้นฉัตรดัง
จันทร์ดวงที่สอง     กว้างสามโยชน์    ไว้เบื้องบนพระผู้มีพระภาคเจ้า     แม้แต่
มหากาฬนาคราช  อันนาคฝ่ายฟ้อนรำแปดหมื่นแวดล้อม  ร่ายคาถาสดุดีนับร้อย
ยืนนมัสการพระมหาสัตว์    เทวดาในหมื่นจักรวาล     บูชาด้วยพวงดอกไม้หอม
และจุรณธูปเป็นต้น    พากันยืนถวายสาธุการ.
ลำดับนั้น     เทวบุตรมารขึ้นช้างที่กันข้าศึกได้    เป็นช้างที่ประดับด้วย
รัตนะ   ชื่อคิริเมขละ   งามน่าดูอย่างยิ่ง   เสมือนยอดหิมะคิรี   ขนาดร้อยห้าสิบ
โยชน์    เนรมิตแขนพันแขน   ให้จับอาวุธต่าง ๆ  ด้วยการจับอาวุธที่ยังไม่ได้จับ.
แม้บริษัทของมารมีกำลังถือดาบ  ธนู  ศร  หอก  ยกธนู  สาก  ผาล  เหล็กแหลม
หอก หลาว  หิน ค้อน  กำไลมือ  ฉมวก  กงจักร  เครื่องสวมคอ   ของมีคม   มี
หน้าเหมือนกวาง  ราชสีห์  แรด  กวาง  หมู  เสือ  ลิง   งู  แมว  นกฮูก   และมี
หน้าเหมือนควาย  ฟาน  ม้า ช้างพลายเป็นต้น  มีกายต่าง ๆน่ากลัว  น่าประหลาด
น่าเกลียด   มีกายเสมือนมนุษย์ยักษ์ปีศาจ   ท่วมทับพระมหาสัตว์โพธิสัตว์   ผู้
ประทับนั่ง  ณ  โคนโพธิพฤกษ์   เดินห้อมล้อม   ยืนมองดูการสำแดงของมาร.
แต่นั้น    เมื่อกองกำลังของมาร  เข้าไปยังโพธิมัณฑสถาน   บรรดาเทพ
เหล่านั้น    มีท้าวสักกะเป็นต้น    เทพแม้แต่องค์หนึ่ง  ก็ไม่อาจจะยืนอยู่ได้.  เทพ


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เล่ม ๙ ภาค ๒ - หน้าที่ 722
ทั้งหลายก็พากันหนีไปต่อหน้า ๆ นั่นแหละ   ก็ท้าวสักกะเทวราช   ทำวิชยุตตร-
สังข์ไว้ที่ปฤษฎางค์    ประทับยืน  ณ ขอบปากจักรวาล.    ท้าวมหาพรหม    วาง

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ทำบุญให้ปลอดภัย

ทำบุญให้ปลอดภัย


จากที่ได้ศึกษาการทำบุญมาก็พบว่า ที่เราทำบุญกันอยู่ทุกวันนี้นั้นมีความอันตรายแฝงมาด้วย คืออย่างไร
คือเราคิดว่าเราทำบุญ แต่อาจจะได้บาปติดมาด้วย แต่ส่วนใหญ่เราคิดว่าได้บุญมาอย่างเดียว เช่น

ถวายของพระ

- ถ้าถวายสิ่งของถูก คือของที่ถวายไม่ผิดพระวินัย ให้กับ พระที่รักษาศีลดี ก็อาจจะได้แต่บุญอย่างเดียว
- แต่ถ้าถวายสิ่งของที่ผิดพระวินัย เช่น เงิน ทอง ให้พระที่รักษาศีลดี แต่พระไม่ทราบพระวินัย ก็อาจจะได้บาปไป
- หรืออาจจะถวายของถูกกับพระวินัย วิธีการถวายถูกต้อง แต่พระทุศีล ก็อาจจะได้ ทั้งบุญ ทั้งบาป
ประมาณนี้ครับ

โดยการทำบุญนั้น โดยเฉพาะการถวายของกับพระเราต้องศึกษาให้ดี ว่าสิ่งไหนถวายได้หรือถวายไม่ได้ ถวายได้ช่วงไหน พระแบบไหนที่รับได้ พระแบบไหนที่ถวายแล้วจะได้บุญ และพระแบบไหนที่ถวายแล้วได้แต่บาปครับ 
เพราะในปัจจุบันนี้มั่วมากครับ เพราะเราคิดว่าทำบุญคงจะได้แต่บุญอย่างเดียว

ดังนั้นผมจึงคิดว่าเอาของหรือเงินทองที่เราตระเวนทำบุญ หรือไหว้พระที่ต่างๆ ไหว้พระ 7 วัด 9 วัด เสียค่ารถ ค่าน้ำมัน เอาไปให้ พ่อ แม่ เราดีกว่าไหมครับ
ซึ่งผมเป็นคนหนึ่งที่แต่ก่อนเอาเงินไปทำบุญที่ ละ 50 บาท บ้าง 100 บาท บ้าง แต่พอได้ศึกษา และคิดได้ผมก็เสียดายว่าทำไมเราไม่เอาให้แม่เรา พ่อเราบ้าง
คิดดูนะครับว่าตอนไปทำบุญ จะทำ 20 บาท หรือ 50 บาท หรือ 100 บาท คนอื่นเขาจะมองว่าทำน้อย เพราะส่วนใหญ่จะทำเอาหน้ากัน ไม่ใช่ทำเอาบุญ
แต่ถ้าลองเอาเงินจำนวนนั้น ถ้าเงินน้อย 20 บาท 50 บาท ซื้อของกินหรือน้ำให้พ่อแม่ ท่านจะดีกว่าไหมครับ ท่านไม่บ่นด้วยว่าทำไมซื้อมาน้อย มีแต่จะบอกว่าซื้อมาทำไมเปลืองเงินซะมากกว่า
หรือเอาเงิน 100 ให้พ่อ แม่ มันอาจจะดูน้อยนะครับ แต่สำหรับความรู้สึก พ่อ แม่ นั้นมากเหลือเกิน แต่สำหรับเราแล้วก็น้อยกว่าที่ท่านเลี้ยงดูเรามา ส่วนบุญกุศลที่เราได้นั้นเปรียบได้กับทำบุญกับพระอรหันต์เลยทีเดียว และไม่ต้องติดบาปเหมือนกับให้พระด้วยครับ

ก่อนหน้านี้ผมเคยอ่านหนังสือลูกกตัญญูของประเทศจีนครับ เนื้อหาของลูกกตัญญูของแต่ละท่านที่ได้เขียนลงในหนังสือนั้น แต่ละท่านดูแลพ่อ แม่ ท่านอย่างดี จนกระทั้ง พ่อ แม่ ตายจากไป แล้วค่อยไปทำงานบ้าง รับราชการบ้าง จนได้เป็นใหญ่เป็นโตตลอดชีวิตการทำงานของตัวเอง จนวันสุดท้ายที่เสียชีวิตครับ เพราะอานิสงจากการดูแล พ่อ แม่ ครับ

เลยมาคิดว่าตรงกับพระพุทธศาสนาว่าพ่อ แม่ เปรียนดังพระอรหันต์ในบ้าน คือเราอุปฐากเลี้ยงดู พ่อ แม่ เราก็น่าจะได้บุญกุศล เปรียบดัง อุปฐากพระอรหันต์เหมือนกันครับ

น่าคิดไหมครับว่าเรายอมเสียเงินดูดวงหรือสะเดาะเคราะห์ที่ละ 100 200 300 ถึง 500 บาท หรืออาจจะเป็น 1000 บาท เพื่อเสริมให้เราดวงดี ว่าหมอไหนดี ไปหาหมดทุกหมอ หรือทำทุกอย่างเสียเงินมากมายให้เราดวงดีขึ้น แต่ทำไม่เราไม่เอาเงินนั้นให้พ่อแม่เราครับ ?
เมื่อก่อนผมเป็นลูกคนหนึ่งที่ยังไม่ฉลาดเพราะไม่ได้ศึกษาและใส่ใจกับเรื่องนี้ แต่พอมาศึกษาแล้วผมเชื่อว่าถ้าเราเลี้ยงดู ตอบแทนท่านนั้นน่าจะเป็นการเสริมดวงหรือสะเดาะเคราะห์ที่ดีกว่าเอาเงินไปให้พวกหมอดูเป็นไหนๆครับ และเห็นผลแน่นอนครับ

อีกอย่างครับเวลาให้ พ่อ แม่ ควรให้โดยที่อยากให้จริงๆนะครับ เพราะบุญจะมากจะน้อย มันอยู่ที่เจตนาของเราครับ
ถ้าพ่อ แม่ ใคร บอกไม่อยากรับก็บอกก่อนเลยครับว่า "ให้รับเถอะจะได้เป็นบุญ กุศล แก่ลูกหน่อย" ครับ


พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 671
เทพ ๓ เหล่า

เทพ ๓ เหล่า คือ สมมติเทพ  (เทวดาโดยสมมติ) ๑  อุปปัตติเทพ
(เทวดาโดยกำเนิด) ๑  วิสุทธิเทพ  (เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ) ๑  ชื่อว่าเทพ
ในคำว่า  ปุพฺพเทวา  นี้.   บรรดาเทพ  ๓  จำพวกเหล่านั้น      กษัตริย์ผู้เป็น
พระราชา    ชื่อว่า  สมมติเทพ.    เพราะว่า  กษัตริย์ผู้เป็นพระราชาเหล่านั้น
ที่ชาวโลกเรียกกันว่า  เทพ  (และ)   เทพี    เป็นผู้ทรงข่มและทรงอนุเคราะห์
ชาวโลกได้เหมือนเทพเจ้า.    เหล่าสัตว์ที่อุบัติขึ้นในเทวโลก     ตั้งแต่เทพชั้น
จาตุมมหาราชิกา   จนถึงภวัคคพรหม   ชื่อว่า   อุปปัตติเทพ.    พระขีณาสพ(พระอรหันต์)
ชื่อว่า   วิสุทธิเทพ   เพราะหมดจดจากกิเลสทั้งมวล.   ในข้อนั้นมีอรรถพจน์
ดังต่อไปนี้.  เหล่าสัตว์ชื่อว่าเทพ  เพราะเล่น,  สนุกสนาน,  เฮฮา,  รุ่งเรื่องอยู่
และชนะฝ่ายตรงข้าม.
บรรดาเทพ ๓ จำพวกเหล่านั้น  วิสุทธิเทพประเสริฐกว่าเทพทุกเหล่า.
วิสุทธิเทพเหล่านั้นมุ่งแต่ความเสื่อมไปแห่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์     และการ
เกิดขึ้นแห่งประโยชน์แก่เขาเหล่านั้น    โดยส่วนเดียว    ไม่คำนึงถึงความผิดที่
พาลชนทำไว้เลย    ปฏิบัติเพื่อประโยชน์  เพื่อเกื้อกูล   เพื่อความสุข  โดยการ
ประกอบพรหมวิหารธรรมตามที่กล่าวแล้ว  และนำความที่สักการะมีผลมากและ
อานิสงส์มากมายมาให้ชนเหล่านั้น      เพราะเป็นทักขิไณยบุคคล  ฉันใด    แม้
มารดาบิดาทั้งหลาย   ก็เช่นนั้น  เหมือนกัน    มุ่งแต่ความเสื่อมไปแห่งสิ่งที่ไม่เป็น
ประโยชน์    และการเกิดขึ้นแห่งประโยชน์แก่เขาเหล่านั้น    โดยส่วนเดียว   ไม่
คำนึงถึงความผิดของบุตรทั้งหลาย   เป็นทักขิไณยบุคคลผู้ยอดเยี่ยม  ปฏิบัติอยู่
เพื่อประโยชน์   เพื่อเกื้อกูล  เพื่อความสุข    เพราะได้พรหมวิหารทั้ง  ๔  อย่าง
โดยนัยที่ได้กล่าวมาแล้ว  นำมาซึ่งความที่อุปการะที่บุตรทำแล้วในตนให้เป็น
อุปการะมีผลานิสงส์มากมาย.   และมารดาบิดาเหล่านั้นเป็นเทพมาแต่ต้นทีเดียว
เพราะมีอุปการะแก่บุตรเหล่านั้น  ก่อนกว่าเทพทั้งมวล. เพราะเหตุนี้   บุตรเหล่านั้น
รู้จักเทพเหล่าอื่นว่าเป็นเทพ  ให้เทพเหล่านั้นพอใจ  เข้าไปนั่งใกล้เทพเหล่านั้น
ครั้นรู้วิธีให้เทพพอใจแล้ว  ปฏิบัติอยู่อย่างนั้น     ก็ได้ประสบผลของข้อปฏิบัตินั้น
ด้วยอำนาจของมารดาบิดาเหล่านั้นก่อน    ฉะนั้น     เทพเหล่าอื่นนั้น    จึงชื่อว่า
เป็นปัจฉาเทพ  (เทพองค์หลัง).  ด้วยเหตุนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   คำว่า  ปุพฺพเทวา  นี้  เป็นชื่อของมารดาบิดาทั้งหลาย.

*********************************************************

บุตรควรทะนุบำรุงมารดาบิดาด้วยสถาน  ๕

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 676

ดูก่อนบุตรคหบดี  มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า  (ตะวันออก)
บุตรควรทะนุบำรุงด้วยสถาน  ๕   คือ
๑.  ท่านได้เลี้ยงเรามาแล้ว   เราจักเลี้ยงดูท่านเหล่านั้น
๒.  เราจักทำกิจของท่าน
๓.  เราจักดำรงวงศ์ตระกูลไว้
๔.  เราจักปฏิบัติตนเป็นผู้รับมรดก
๕.  เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว   เราจักเพิ่มทักษิณาทานให้

ดูก่อนบุตรคหบดี   มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า    ที่บุตรทะนุบำรุงด้วย
สถาน  ๕  เหล่านี้แล้วแล   จะอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน  ๕  คือ  ๑.  ห้ามบุตรจาก
ความชั่ว  ๒.  ให้บุตรตั้งมั่นอยู่ในความดี    ๓.  ให้บุตรศึกษาเล่าเรียน  ๔.  หา
ภรรยาที่เหมาะสมให้   ๕.  มอบทรัพย์สมบัติให้ในสมัย.  อีกอย่างหนึ่ง  บุตรคนใด
บำรุงมารดาบิดาโดยทำให้เลื่อมใสอย่างยิ่งในวัตถุทั้ง  ๓  (พระรัตนตรัย) ให้ดำรง
อยู่ในศีล   หรือให้ประกอบในการบรรพชา  บุตรนี้   พึงทราบว่าเป็นผู้ล้ำเลิศ
บรรดาผู้บำรุงมารดาบิดาทั้งหลาย.
พระพุทธเจ้า    เมื่อจะทรงแสดงว่า    ก็การบำรุงนี้นั้น     เป็นเหตุ
นำประโยชน์เกื้อกูล   และความสุขในโลกทั้ง  ๒  มาให้แก่บุตรจึงไว้ตรัสไว้ว่า
คนทั้งหลาย  จะพากันสรรเสริญเขา
ในโลกนี้ที่เดียว   เขาละโลกนี้ไปแล้ว  ก็
ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์  ดังนี้.

*********************************************************

ว่าด้วยมารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 668
๗. พรหมสูตร

ว่าด้วยตระกูลมีบุตรบูชามารดาบิดา
[๒๘๖]  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย    ตระกูลใด    บุตรบูชามารดาและบิดา
อยู่ในเรือนของตน    ตระกูลนั้นชื่อว่ามีพรหม    มีบุรพเทวดา    มีบุรพาจารย์
มีอาหุไนยบุคคล  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  คำว่าพรหม  เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่าบุรพเทวดา   เป็นชื่อของมารดาและบิดา   คำว่าบุรพาจารย์  เป็นชื่อของ
มารดาและบิดา  คำว่าอาหุไนยบุคคล  เป็นชื่อของมารดาและบิดา  ข้อนั้นเพราะ
เหตุไร  ? เพราะมารดาและบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก   เป็นผู้ถนอมเลี้ยง   เป็น
ผู้แสดงโลกนี้แก่บุตร.
มารดาและบิดา  เราตถาคตกล่าวว่า
เป็นพรหม  เป็นบุรพาจารย์  เป็นอาหุไนย-
บุคคลของบุตร  เพราะเป็นผู้อนุเคราะห์
บุตร   เพราะเหตุนั้นแหละ   บัณฑิตพึง
นอบน้อมและพึงสักการะมารดาและบิดา
ทั้งสองนั้น  ด้วยข้าว  น้ำ  ผ้า  ที่นอน
การขัดสี  การให้อาบน้ำ  และการล้างเท้า
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญ  บุคคลนั้น
ในโลกนี้ทีเดียว  เพราะการปฏิบัติในมารดา
และบิดา  บุคคลนั้นละไปแล้ว  ย่อมบันเทิง
ในสวรรค์.


จบพรหมสูตรที่  ๗

วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พระ เงิน ทอง สิ่งของ

พระ เงิน ทอง สิ่งของ



ในช่วงนี้มีข่าวเรื่องรถหรูมากมายและเรื่องพระที่มีสิ่งของที่ในธรรมวินัยนี้ดูแล้วอาจจะไม่เหมาะสมอย่างยิ่งครับ เช่น

- ข่าวว่าพระมีเครื่องบินส่วนตัว ใช้ของแบรนด์เนมต่างๆ
- ข่าวว่าพระมีรถหรูหลายคันโดยอ้างว่ารับมาเพื่อลูกศิษย์และใช้ในกิจของสงฆ์

ผมขอยกที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้ให้อ่านกันอีก 1 รอบนะครับ


พระไม่สามารถรับเงิน ทอง สิ่งของที่มีค่า หรือแม้กระทั้งซื้อของเองได้

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

จุลศีล

 [๑๐๓] ดูกรมหาบพิตร อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.
             .
             .
             .
             ๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน.
             ๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ.
             ๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ.
             ๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี.
             ๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส.
             ๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ.
             ๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร.
             ๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา.
             ๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน.

ดังนั้นการตักบาตรอาหารแห้งก็ผิด หรือไปทำบุญที่วัดซื้อโฉนดที่ดินถวายพระก็ผิด

**************************************************************************

หรือแม้กระทั้งให้คนอื่นรับแทนหรือเก็บไว้ให้ก็ไม่ได้

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒  พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระบัญญัติ

             ๓๗. ๘. อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงินอันเขาเก็บไว้ให้, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.

(ต้องอาบัตินิสสัคคีย์    ต้องสละสิ่งของนั้นออกไป    จึงจะพ้นโทษได้)

**************************************************************************

ภิกษุแสวงหาเงิน – ทอง ไม่ใช่สมณะเชื้อสายพระศากยบุตร

พระไตรปิกฏ  เล่ม   9    หน้า   536 

ดูก่อนนายบ้าน  ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรโดยแท้  
สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน   สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่รับทองและเงิน  สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว   ปราศจากทองและเงิน   

**************************************************************************

แค่นี้น่าจะชัดเจนมากๆครับ

วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

งานศพ

งานศพ




มีอีก 1 พิธีที่ลองคิดพิจารณาดูแล้วอาจจะไม่ได้บุญกุศล และสิ้นเปลืองเงินทองมากก็คือการจัดงานศพ

เพราะว่าอะไร?
เพราะว่า เราให้เงินพระเป็นค่าสวดศพ ยิ่งสวดหลายวันยิ่งให้เงินพระมาก ยิ่งบาปมาก ยิ่งเป็นหนี้มาก โดยเฉพาะยิ่งบ้านไหนที่รวย เก็บศพไว้ 100 วัน 200 วัน 1 ปี ยิ่งสิ้นเปลืองมากๆ

ลองคิดตามดูนะครับ
- เมื่อมีญาติเสียชีวิต ในศาสนาเราเชื่อว่าต้องทำบุญให้ผู้ตาย เขาจะได้ไปสู่สุคติ
- เราจึงจัดพิธีศพขึ้นและนำเงินให้พระ เพราะว่าในสมัยนี้ไม่มีเงินพระไม่สวดให้ และเรารู้สึกว่าจัดงานให้ผู้ตายแล้ว ผู้ตายจะได้ไปสู่สุคติ แต่ตามที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่า ให้เงินกับพระนั้นได้บาป
- ถ้าอย่างนั้นจะทำยังไงผู้ตายถึงจะได้บุญ ?
- ทำบุญให้และอุทิศบุญให้ แต่ต้องทำบุญกับพระที่ไม่ทุศีล
- ถ้าหาพระที่ไม่ทุศีลยากก็ทำกับ พ่อ แม่ พี่ น้องเรา ญาติเราได้เลยครับ
- อย่างเช่นในงานศพจะมีพวกรถขายของต่างๆ เงินที่เราจะใส่ซอง 100-200 เอาไปซื้อไอติม หรือขนม ให้พวกเด็กแถวนั้น ให้พ่อเรา แม่เรา ญาติเรากิน แล้วอุทิศบุญให้ผู้ตาย อย่างนี้น่าจะดีกว่าครับ
- หรือเอาเงินที่จะให้พระไปหาทำบุญที่ถูกต้องวันหลังแล้วอุทิศให้น่าจะดีกว่า
- ส่วนศพนั้นพยายามเผาแบบเรียบง่ายที่สุดครับ ผมเขาใจว่าเรารักและเศร้าเสียใจเป็นธรรมดา  แต่ในทางพระพุทธศาสนานั้นมันคือแค่ซากศพที่ไร้ค่าครับ แต่สิ่งที่เราน่าจะใส่ใจก็คือ ดวงจิต หรือ ดวงวิญญาณของผู้ที่ตาย ที่ยังคงเวียนวายตายเกิดต่อไปครับ


เผาศพพระอรหันต์ไม่ต้องมีพิธีมาก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 124
๑๐. พาหิยสูตร
ว่าด้วยการตรัสถึงที่สุดทุกข์
.
.
แม้ครั่งที่ ๒ ...แม้ครั้งที่ ๓  พาหิยทารุจีริยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าว่า   ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ     ก็ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของ
พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ดี    ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์
ก็ดี   รู้ได้ยากแล  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ   ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรง
แสดงธรรมแก่ข้าพระองค์       ขอพระสุคตโปรดทรงแสดงธรรมเพื่อประ-
โยชน์เกื้อกูล  เพื่อความสุข   แก่ข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  ดูก่อนพาหิยะ   เพราะเหตุนั้นแล  ท่าน
พึงศึกษาอย่างนี้ว่า     เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น     เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง
เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ   เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง   ดูก่อนพาหิยะ
ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล    ดูก่อนพาหิยะ   ในกาลใดแล   เมื่อท่านเห็นจัก
เป็นสักว่าเห็น  เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง  เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ  เมื่อ
รู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง  ในกาลนั้น  ท่านย่อมไม่มี  ในกาลใด  ท่านไม่มี
ในกาลนั้น      ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้     ย่อมไม่มีในโลกหน้า   ย่อมไม่มีใน
ระหว่างโลกทั้งสอง  นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์.
ลำดับนั้นแล  จิตของพาหิยทารุจีริยกุลบุตรหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ
ทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นในขณะนั้นเอง   ด้วยพระธรรมเทศนาโดยย่อนี้ของ
พระผู้มีพระภาคเจ้า     ลำดับนั้นแล    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนพาหิย-
ทารุจีริยกุลบุตรด้วยพระโอวาทโดยย่อนี้แล้ว  เสด็จหลีกไป.

[๕๐]  ครั้งนั้นแล  เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน
แม่โคลูกอ่อนขวิดพาหิยทารุจีริยะให้ล้มลงปลงเสียจากชีวิต    ครั้นพระผู้มี-
พระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวบิณฑบาตนพระนครสาวัตถีเสด็จกลับจากบิณฑบาต
ในเวลาปัจฉาภัต    เสด็จออกจากพระนครพร้อมกับภิกษุเป็นอันมาก   ได้
ทอดพระเนตรเห็นพาหิยทารุจีริยะทำกาละแล้ว   จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย     ท่านทั้งหลายจงช่วยกันจับสรีระของพาหิยทารุจีริยะ
ยกขึ้นสู่เตียงแล้ว   จงนำไปเผาเสีย   แล้วจงทำสถูปไว้  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
พาหิยทารุจีริยะประพฤติธรรมอันประเสริฐเสมอกับท่านทั้งหลาย  ทำกาละ
แล้ว    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว   ช่วยกันยกสรีระของ
พระพาหิยทารุจีริยะขึ้นสู่เตียง  แล้วนำไปเผา  และทำสถูปไว้   แล้วเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ   ได้นั่งอยู่  ณ ที่ควรข้างหนึ่ง  ครั้นแล้ว