กล่าวนำและทำความเข้าใจ

กล่าวนำและทำความเข้าใจ

Blog นี้จัดทำขึ้นเนื่องจากการที่ตั้งใจศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและหลักการปฏิบัติตนตามหลักคำสอนอย่างถูกต้อง
เพราะในปัจจุบันคนเราเน้นการทำบุญโดยเอาความสะดวกสบายและง่ายเข้าว่า โดยบ้างครั้งอาจจะผิดหลักคำสอนจนความตั้งใจทำบุญจริงๆนั้นกลายมาเป็นบาป และบ้างครั้งอาจจะหลงผิดใช้เงินกับการทำบุญที่ผิดวิธีจนได้บาปเช่นกัน แต่เราก็สามารถทำบุญอย่างง่ายๆและถูกต้องได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องรู้หลักการปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อที่จะได้บุญจริงๆ

บทความใน Blog นี้จึงขอมุ่งเน้นหยิบยกเนื้อหาอ้างอิงจากพระไตรปิฏกเป็นหลักและบทความจากผู้ที่ศึกษาพระไตรปิฏกอย่างจริงจังที่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน การทำ Blog นี้มีเจตนาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางที่สำหรับผู้คนอาจจะพบเห็นและได้ศึกษาธรรมมากขึ้น

"การศึกษาอะไรที่ยิ่งใหญ่ อาจจะมาจากเรื่องที่เราสงสัยเล็กๆเพียงเรื่องเดียว"

***ทั้งนี้เนื้อหาที่ได้ลงไปใน Blog ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณและศึกษาจากพระไตรปิฏกควบคู่ไปด้วยเพราะอาจมีการคลาดเคลื่อนของเนื้อหา เพื่อผู้อ่านจะได้รับความรู้ที่ตรงและถูกต้องที่สุดครับ***

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ฉันเพล

ฉันเพล


อีก 1 สิ่งที่ผมคิดว่าเราทำกันมาผิดโดยตลอดและเราไม่ทราบครับ
คือการฉันเพล ก็ไม่ทราบว่ามีมาแต่ตอนไหน หรือว่าอย่างไร

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๒ - หน้าที่ 500
โภชนวรรค  สิกขาบทที่  ๕
เรื่องภิกษุหลายรูป
[๔๙๙]  โดยสมัยนั้น   พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่  ณ  พระเชตวัน  
อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์
คนหนึ่งนิมนต์ภิกษุทั้งหลายให้ฉัน   ภิกษุทั้งหลายฉันเสร็จ  ห้ามภัตแล้ว   ไปสู่
ตระกูลญาติ  บางพวกก็ฉันอีก   บางพวกก็รับบิณฑบาตไป   หลังจากเลี้ยงพระ
แล้ว    พราหมณ์ได้กล่าวเชิญชวนพวกเพื่อนบ้านว่า    ท่านทั้งหลาย    ข้าพเจ้า
เลี้ยงภิกษุให้อิ่มหนำแล้ว   มาเถิด   ข้าพเจ้าจักเลี้ยงท่านทั้งหลายให้อิ่มหนำบ้าง.
พวกเพื่อนบ้านพากันกล่าวแย่งอย่างนี้ว่า     ท่านจักเลี้ยงพวกข้าพเจ้า
ให้อิ่มได้อย่างไร   แม้ภิกษุทั้งหลายที่ท่านนิมนต์ให้ฉันแล้ว    ยังต้องไปที่เรือน
ของพวกข้าพเจ้า   บางพวกก็ฉันอีก  บางพวกก็รับบิณฑบาตไป.
จึงพราหมณ์นั้นเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า     พระคุณเจ้าผู้เจริญ
ทั้งหลายฉันที่เรือนของเราแล้ว     ไฉนจึงได้ฉัน  ณ ที่แห่งอื่นอีกเล่า     ข้าพเจ้า
ไม่มีกำลังพอจะถวายให้พอแก่ความต้องการหรือ.
ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินพราหมณ์นั้นเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาอยู่  บรรดา
ที่เป็นพวกมักน้อย. . .  ต่างก็เพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า    ไฉนภิกษุทั้งหลาย
ฉันเสร็จ  ห้ามภัตแล้ว   จึงได้ฉัน   ณ  ที่แห่งอื่นอีกเล่า . . . แล้วกราบทูลเรื่องนั้น
แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ข่าวว่าภิกษุทั้งหลายฉันเสร็จ   ห้ามภัตแล้ว   ยังฉัน  ณ  ที่แห่งอื่นอีก   จริงหรือ.
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า   จริง   พระพุทธเจ้าข้า.

ทรงติเตียนนั้นแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย    ไฉน
ภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นฉันเสร็จ   ห้ามภัตแล้ว   จึงได้ฉัน  ณ ที่แห่งอื่นอีกเล่า
การกระทำของภิกษุโมฆบุรุษเหล่านั้นนั่น     ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของ
ชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส   หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว . . .
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย     ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้
ว่าดังนี้ :-

พระบัญญัติ
๘๔.  ๕.  ก.  อนึ่ง  ภิกษุใดฉันเสร็จ  ห้ามภัตแล้ว  เคี้ยวก็ดี
ฉันก็ดี   ซึ่งของเคี้ยวก็ดี  ซึ่งของฉันก็ดี  เป็นปาจิตตีย์.
ก็สิกขาบทนี้   ย่อมเป็นอัน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้.

เรื่องภิกษุหลายรูป  จบ

เรื่องอาหารเดน
[๕๐๐]  ก็โดยสมัยนั้นแล     ภิกษุทั้งหลายนำบิณฑบาตอันประณีตไป
ถวายพวกภิกษุอาพาธ   พระภิกษุอาพาธฉันไม่ได้ดังใจประสงค์   ภิกษุทั้งหลาย
จึงทิ้งบิณฑบาตเหล่านั้นเสีย.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับเสียงนกการ้องเกรียวกราว     ครั้นแล้วได้

รับสั่งถามท่านพระอานนท์ว่า    ดูก่อนอานนท์    เสียงนกการ้องเกรียวกราวนั้น
อะไรกันหนอ.
จึงท่านพระอานนท์กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

ภ.  ดูก่อนอานนท์     ก็ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารอันเป็นเดนของภิกษุ
อาพาธหรือ.
อา.  มิได้ฉัน    พระพุทธเจ้าข้า.

ทรงอนุญาตให้ฉันอาหารเป็นเดนภิกษุไข้
ลำดับนั้น    พระผู้มีพระภาคเจ้า   ทรงทำธรรมีกถา  ในเพราะเหตุเป็น
เค้ามูลนั้น    ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น    แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า   ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย   เราอนุญาตให้ฉันอาหารอันเป็นเดนของภิกษุผู้อาพาธและมิใช่ผู้
อาพาธได้   แต่พึงทำให้เป็นเดน   อย่างนี้ว่า   ทั้งหมดนั่นพอแล้ว.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย    ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนั้น
ว่าดังนี้ :-

พระอนุบัญญัติ
๘๔. ๕. ข.  อนึ่ง  ภิกษุใดฉันเสร็จ  ห้ามภัตแล้ว   เคี้ยวก็ดี
ฉันก็ดี  ซึ่งของเคี้ยวก็ดี  ซึ่งของฉันก็ดี   อันมิใช่เดน  เป็นปาจิตตีย์.
เรื่องอาหารเดน  จบ


สิกขาบทวิภังค์
[๕๐๑]  บทว่า  อนึ่ง. . .ใด  ความว่าผู้ใด  คือผู้เช่นใด. . .
บทว่า ภิกษุ  ความว่า  ที่ชื่อว่า  ภิกษุ  เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ. . .นี้
ชื่อว่า  ภิกษุ  ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
ที่ชื่อว่า  ฉันเสร็จ  คือ  ฉันโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง  โดยที่สุด
แม้ด้วยปลายหญ้าคา.

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๒ - หน้าที่ 501

ลักษณะห้ามภัต
ที่ชื่อว่า  ห้ามภัตแล้ว   คือ  กำลังฉันอาหารอยู่  ๑  ทายกนำโภชนะ
มาถวายอีก  ๑  ทายกอยู่ในหัตถบาส  ๑  ทายกน้อมถวาย ๑  ภิกษุห้ามเสีย ๑.

ลักษณะของไม่เป็นเดน
ที่ชื่อว่า  มิใช่เดน  คือ  ของที่ยังมิได้ทำให้เป็นกัปปิยะ   ๑  ภิกษุมิได้
รับประเคน ๑  ภิกษุมิได้ยกขึ้นส่งให้ ๑ ทำนอกหัตถบาส ๑  ภิกษุฉันยังไม่เสร็จ
ทำ ๑  ภิกษุฉันเสร็จ  ห้ามภัตแล้ว   ลุกจากอาสนะแล้วทำ  ๑  ภิกษุมิได้พูดว่า
ทั้งหมดนั้นพอแล้ว  ๑  ของนั้นมิใช่เป็นเดนภิกษุอาพาธ ๑ นี้ชื่อว่า  มิใช่เดน.

ลักษณะของเป็นเดน
ที่ชื่อว่า  เป็นเดน   คือ   ของที่ทำให้เป็นกัปปิยะแล้ว   ๑    ภิกษุรับ
ประเคนแล้ว  ๑  ภิกษุยกขึ้นส่งให้ ๑  ทำในหัตถบาส ๑   ภิกษุฉันแล้ว   ทำ ๑
ฉันเสร็จห้ามภัตแล้ว   ยังไม่ลุกจากอาสนะ   ทำ ๑  ภิกษุพูดว่า   ทั้งหมดนั่นพอ
แล้ว  ๑  เป็นเดนภิกษุอาพาธ ๑  นี้ชื่อว่า  เป็นเดน.

ลักษณะของเคี้ยว
ที่ชื่อว่า   ต้องเคี้ยว  คือ  เว้นโภชนะห้า  ๑   ของที่เป็นยามกาลิก  ๑
สัตตาหกาลิก  ๑  ยาวชีวิก ๑  นอกนั้นชื่อว่า  ของเคี้ยว.

ลักษณะของฉัน
ที่ชื่อว่า   ของฉัน    ได้แก่  โภชนะ ๕  คือ   ข้าวสุก ๑  ขนมสด ๑
ขนมแห้ง  ๑   ปลา ๑   เนื้อ ๑.
ภิกษุรับประเคนด้วยตั้งใจว่า  จักเคี้ยว  จักฉัน    ต้องอาบัติทุกกฏ.
ขณะกลืน  ต้องอาบัติปาจิตตีย์  ทุก ๆ คำกลืน.

บทภาชนีย์

ติกปาจิตตีย์
[๕๐๒]  ของไม่เป็นเดน ภิกษุสำคัญว่า ไม่เป็นเดน  เคี้ยวก็ดี  ฉันก็ดี
ซึ่งของเคี้ยวก็ดี  ซึ่งของฉันก็ดี  ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
ของไม่เป็นเดน  ภิกษุสงสัย   เคี้ยวก็ดี  ฉันก็ดี   ซึ่งของเคี้ยวก็ดี  ซึ่ง
ของฉัน ก็ดี  ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

ทุกกฏ

ภิกษุรับประเคนของที่เป็นยามกาลิก    สัตตาหกาลิก    ยาวชีวิก    เพื่อ
ประสงค์เป็นอาหาร  ต้องอาบัติทุกกฏ.
ขณะกลืน  ต้องอาบัติทุกกฏ  ทุก ๆ คำกลืน.
ของเป็นเดน  ภิกษุสำคัญว่ามิใช่เดน. . .ต้องอาบัติทุกกฏ.
ของเป็นเดน  ภิกษุสงสัย. . .ต้องอาบัติทุกกฏ.

ไม่ต้องอาบัติ
ของเป็นเดน  ภิกษุสำคัญว่าเป็นเดน. . .ไม่ต้องอาบัติ.

อนาปัตติวาร

[๕๐๓]  ภิกษุให้ทำเป็นเดนแล้วฉัน ๑   ภิกษุรับประเคนไว้ด้วยตั้งใจ
ว่าจักให้ทำเป็นเดนแล้วจึงฉัน  ๑  ภิกษุรับไปเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑  ฉัน
อาหารที่เหลือของภิกษุอาพาธ  ๑   ฉันยามกาลิก   สัตตาหกาลิก   ยาวชีวิก   ใน
เมื่อมีเหตุอันสมควร ๑  ภิกษุวิกลจริต ๑  ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.

โภชนวรรค  สิกขาบทที่  ๕ จบ

จากที่พระไตรปิฏก สรุปได้ว่าเมื่อภิกษุฉันเสร็จแล้ว และห้ามภัตแล้ว แล้วฉันเพิ่มอีกถือว่าต้องอาบัติ ยกเว้นฉันอาหารที่เป็น "เดน"
แต่ในปัจจุบันพระฉันเช้าแล้ว และ ฉันเพลด้วย ซึ่งเราก็ทำตามๆกันมาโดยที่ไม่ได้ศึกษาอีก 1 อย่างครับ
และอีก 1 อย่างเท่าที่ศึกษาดูยังไม่เห็นบทไหนที่พระพุทธเจ้าฉันเพลเลยครับ ถ้าใครพบเห็นช่วยบอกด้วยครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. เฮ้อ...คุณต้องมาเป็นมรรคายก แล้วทำหน้าที่รับกิจนิมนต์ให้พระแล้วล่ะ
    เพื่อจะได้แนะนำชาวบ้านให้เขาทำในสิ่งที่ถูก เพราะชาวบ้านเองก็มองตามมุมตนเองว่า ไม่เป็นไร ส่วนทางพระก็ไม่อยากขัดใจชาวบ้านก็อนุโลมตามท้องถิ่นนั้นๆ
    ...ต้องมีใครยอมมาเป็นมรรคทายกครับและควรมีการประสานงานระหว่างสน.พุทธกับทางวัด
    เห็นด้วยที่เขียนมา..และหวังว่าคุณจะส่งข่าวให้ทางสน.พุทธบ้าง

    ตอบลบ