กล่าวนำและทำความเข้าใจ

กล่าวนำและทำความเข้าใจ

Blog นี้จัดทำขึ้นเนื่องจากการที่ตั้งใจศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและหลักการปฏิบัติตนตามหลักคำสอนอย่างถูกต้อง
เพราะในปัจจุบันคนเราเน้นการทำบุญโดยเอาความสะดวกสบายและง่ายเข้าว่า โดยบ้างครั้งอาจจะผิดหลักคำสอนจนความตั้งใจทำบุญจริงๆนั้นกลายมาเป็นบาป และบ้างครั้งอาจจะหลงผิดใช้เงินกับการทำบุญที่ผิดวิธีจนได้บาปเช่นกัน แต่เราก็สามารถทำบุญอย่างง่ายๆและถูกต้องได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องรู้หลักการปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อที่จะได้บุญจริงๆ

บทความใน Blog นี้จึงขอมุ่งเน้นหยิบยกเนื้อหาอ้างอิงจากพระไตรปิฏกเป็นหลักและบทความจากผู้ที่ศึกษาพระไตรปิฏกอย่างจริงจังที่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน การทำ Blog นี้มีเจตนาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางที่สำหรับผู้คนอาจจะพบเห็นและได้ศึกษาธรรมมากขึ้น

"การศึกษาอะไรที่ยิ่งใหญ่ อาจจะมาจากเรื่องที่เราสงสัยเล็กๆเพียงเรื่องเดียว"

***ทั้งนี้เนื้อหาที่ได้ลงไปใน Blog ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณและศึกษาจากพระไตรปิฏกควบคู่ไปด้วยเพราะอาจมีการคลาดเคลื่อนของเนื้อหา เพื่อผู้อ่านจะได้รับความรู้ที่ตรงและถูกต้องที่สุดครับ***

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ทำบุญให้ปลอดภัย

ทำบุญให้ปลอดภัย


จากที่ได้ศึกษาการทำบุญมาก็พบว่า ที่เราทำบุญกันอยู่ทุกวันนี้นั้นมีความอันตรายแฝงมาด้วย คืออย่างไร
คือเราคิดว่าเราทำบุญ แต่อาจจะได้บาปติดมาด้วย แต่ส่วนใหญ่เราคิดว่าได้บุญมาอย่างเดียว เช่น

ถวายของพระ

- ถ้าถวายสิ่งของถูก คือของที่ถวายไม่ผิดพระวินัย ให้กับ พระที่รักษาศีลดี ก็อาจจะได้แต่บุญอย่างเดียว
- แต่ถ้าถวายสิ่งของที่ผิดพระวินัย เช่น เงิน ทอง ให้พระที่รักษาศีลดี แต่พระไม่ทราบพระวินัย ก็อาจจะได้บาปไป
- หรืออาจจะถวายของถูกกับพระวินัย วิธีการถวายถูกต้อง แต่พระทุศีล ก็อาจจะได้ ทั้งบุญ ทั้งบาป
ประมาณนี้ครับ

โดยการทำบุญนั้น โดยเฉพาะการถวายของกับพระเราต้องศึกษาให้ดี ว่าสิ่งไหนถวายได้หรือถวายไม่ได้ ถวายได้ช่วงไหน พระแบบไหนที่รับได้ พระแบบไหนที่ถวายแล้วจะได้บุญ และพระแบบไหนที่ถวายแล้วได้แต่บาปครับ 
เพราะในปัจจุบันนี้มั่วมากครับ เพราะเราคิดว่าทำบุญคงจะได้แต่บุญอย่างเดียว

ดังนั้นผมจึงคิดว่าเอาของหรือเงินทองที่เราตระเวนทำบุญ หรือไหว้พระที่ต่างๆ ไหว้พระ 7 วัด 9 วัด เสียค่ารถ ค่าน้ำมัน เอาไปให้ พ่อ แม่ เราดีกว่าไหมครับ
ซึ่งผมเป็นคนหนึ่งที่แต่ก่อนเอาเงินไปทำบุญที่ ละ 50 บาท บ้าง 100 บาท บ้าง แต่พอได้ศึกษา และคิดได้ผมก็เสียดายว่าทำไมเราไม่เอาให้แม่เรา พ่อเราบ้าง
คิดดูนะครับว่าตอนไปทำบุญ จะทำ 20 บาท หรือ 50 บาท หรือ 100 บาท คนอื่นเขาจะมองว่าทำน้อย เพราะส่วนใหญ่จะทำเอาหน้ากัน ไม่ใช่ทำเอาบุญ
แต่ถ้าลองเอาเงินจำนวนนั้น ถ้าเงินน้อย 20 บาท 50 บาท ซื้อของกินหรือน้ำให้พ่อแม่ ท่านจะดีกว่าไหมครับ ท่านไม่บ่นด้วยว่าทำไมซื้อมาน้อย มีแต่จะบอกว่าซื้อมาทำไมเปลืองเงินซะมากกว่า
หรือเอาเงิน 100 ให้พ่อ แม่ มันอาจจะดูน้อยนะครับ แต่สำหรับความรู้สึก พ่อ แม่ นั้นมากเหลือเกิน แต่สำหรับเราแล้วก็น้อยกว่าที่ท่านเลี้ยงดูเรามา ส่วนบุญกุศลที่เราได้นั้นเปรียบได้กับทำบุญกับพระอรหันต์เลยทีเดียว และไม่ต้องติดบาปเหมือนกับให้พระด้วยครับ

ก่อนหน้านี้ผมเคยอ่านหนังสือลูกกตัญญูของประเทศจีนครับ เนื้อหาของลูกกตัญญูของแต่ละท่านที่ได้เขียนลงในหนังสือนั้น แต่ละท่านดูแลพ่อ แม่ ท่านอย่างดี จนกระทั้ง พ่อ แม่ ตายจากไป แล้วค่อยไปทำงานบ้าง รับราชการบ้าง จนได้เป็นใหญ่เป็นโตตลอดชีวิตการทำงานของตัวเอง จนวันสุดท้ายที่เสียชีวิตครับ เพราะอานิสงจากการดูแล พ่อ แม่ ครับ

เลยมาคิดว่าตรงกับพระพุทธศาสนาว่าพ่อ แม่ เปรียนดังพระอรหันต์ในบ้าน คือเราอุปฐากเลี้ยงดู พ่อ แม่ เราก็น่าจะได้บุญกุศล เปรียบดัง อุปฐากพระอรหันต์เหมือนกันครับ

น่าคิดไหมครับว่าเรายอมเสียเงินดูดวงหรือสะเดาะเคราะห์ที่ละ 100 200 300 ถึง 500 บาท หรืออาจจะเป็น 1000 บาท เพื่อเสริมให้เราดวงดี ว่าหมอไหนดี ไปหาหมดทุกหมอ หรือทำทุกอย่างเสียเงินมากมายให้เราดวงดีขึ้น แต่ทำไม่เราไม่เอาเงินนั้นให้พ่อแม่เราครับ ?
เมื่อก่อนผมเป็นลูกคนหนึ่งที่ยังไม่ฉลาดเพราะไม่ได้ศึกษาและใส่ใจกับเรื่องนี้ แต่พอมาศึกษาแล้วผมเชื่อว่าถ้าเราเลี้ยงดู ตอบแทนท่านนั้นน่าจะเป็นการเสริมดวงหรือสะเดาะเคราะห์ที่ดีกว่าเอาเงินไปให้พวกหมอดูเป็นไหนๆครับ และเห็นผลแน่นอนครับ

อีกอย่างครับเวลาให้ พ่อ แม่ ควรให้โดยที่อยากให้จริงๆนะครับ เพราะบุญจะมากจะน้อย มันอยู่ที่เจตนาของเราครับ
ถ้าพ่อ แม่ ใคร บอกไม่อยากรับก็บอกก่อนเลยครับว่า "ให้รับเถอะจะได้เป็นบุญ กุศล แก่ลูกหน่อย" ครับ


พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 671
เทพ ๓ เหล่า

เทพ ๓ เหล่า คือ สมมติเทพ  (เทวดาโดยสมมติ) ๑  อุปปัตติเทพ
(เทวดาโดยกำเนิด) ๑  วิสุทธิเทพ  (เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ) ๑  ชื่อว่าเทพ
ในคำว่า  ปุพฺพเทวา  นี้.   บรรดาเทพ  ๓  จำพวกเหล่านั้น      กษัตริย์ผู้เป็น
พระราชา    ชื่อว่า  สมมติเทพ.    เพราะว่า  กษัตริย์ผู้เป็นพระราชาเหล่านั้น
ที่ชาวโลกเรียกกันว่า  เทพ  (และ)   เทพี    เป็นผู้ทรงข่มและทรงอนุเคราะห์
ชาวโลกได้เหมือนเทพเจ้า.    เหล่าสัตว์ที่อุบัติขึ้นในเทวโลก     ตั้งแต่เทพชั้น
จาตุมมหาราชิกา   จนถึงภวัคคพรหม   ชื่อว่า   อุปปัตติเทพ.    พระขีณาสพ(พระอรหันต์)
ชื่อว่า   วิสุทธิเทพ   เพราะหมดจดจากกิเลสทั้งมวล.   ในข้อนั้นมีอรรถพจน์
ดังต่อไปนี้.  เหล่าสัตว์ชื่อว่าเทพ  เพราะเล่น,  สนุกสนาน,  เฮฮา,  รุ่งเรื่องอยู่
และชนะฝ่ายตรงข้าม.
บรรดาเทพ ๓ จำพวกเหล่านั้น  วิสุทธิเทพประเสริฐกว่าเทพทุกเหล่า.
วิสุทธิเทพเหล่านั้นมุ่งแต่ความเสื่อมไปแห่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์     และการ
เกิดขึ้นแห่งประโยชน์แก่เขาเหล่านั้น    โดยส่วนเดียว    ไม่คำนึงถึงความผิดที่
พาลชนทำไว้เลย    ปฏิบัติเพื่อประโยชน์  เพื่อเกื้อกูล   เพื่อความสุข  โดยการ
ประกอบพรหมวิหารธรรมตามที่กล่าวแล้ว  และนำความที่สักการะมีผลมากและ
อานิสงส์มากมายมาให้ชนเหล่านั้น      เพราะเป็นทักขิไณยบุคคล  ฉันใด    แม้
มารดาบิดาทั้งหลาย   ก็เช่นนั้น  เหมือนกัน    มุ่งแต่ความเสื่อมไปแห่งสิ่งที่ไม่เป็น
ประโยชน์    และการเกิดขึ้นแห่งประโยชน์แก่เขาเหล่านั้น    โดยส่วนเดียว   ไม่
คำนึงถึงความผิดของบุตรทั้งหลาย   เป็นทักขิไณยบุคคลผู้ยอดเยี่ยม  ปฏิบัติอยู่
เพื่อประโยชน์   เพื่อเกื้อกูล  เพื่อความสุข    เพราะได้พรหมวิหารทั้ง  ๔  อย่าง
โดยนัยที่ได้กล่าวมาแล้ว  นำมาซึ่งความที่อุปการะที่บุตรทำแล้วในตนให้เป็น
อุปการะมีผลานิสงส์มากมาย.   และมารดาบิดาเหล่านั้นเป็นเทพมาแต่ต้นทีเดียว
เพราะมีอุปการะแก่บุตรเหล่านั้น  ก่อนกว่าเทพทั้งมวล. เพราะเหตุนี้   บุตรเหล่านั้น
รู้จักเทพเหล่าอื่นว่าเป็นเทพ  ให้เทพเหล่านั้นพอใจ  เข้าไปนั่งใกล้เทพเหล่านั้น
ครั้นรู้วิธีให้เทพพอใจแล้ว  ปฏิบัติอยู่อย่างนั้น     ก็ได้ประสบผลของข้อปฏิบัตินั้น
ด้วยอำนาจของมารดาบิดาเหล่านั้นก่อน    ฉะนั้น     เทพเหล่าอื่นนั้น    จึงชื่อว่า
เป็นปัจฉาเทพ  (เทพองค์หลัง).  ด้วยเหตุนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   คำว่า  ปุพฺพเทวา  นี้  เป็นชื่อของมารดาบิดาทั้งหลาย.

*********************************************************

บุตรควรทะนุบำรุงมารดาบิดาด้วยสถาน  ๕

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 676

ดูก่อนบุตรคหบดี  มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า  (ตะวันออก)
บุตรควรทะนุบำรุงด้วยสถาน  ๕   คือ
๑.  ท่านได้เลี้ยงเรามาแล้ว   เราจักเลี้ยงดูท่านเหล่านั้น
๒.  เราจักทำกิจของท่าน
๓.  เราจักดำรงวงศ์ตระกูลไว้
๔.  เราจักปฏิบัติตนเป็นผู้รับมรดก
๕.  เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว   เราจักเพิ่มทักษิณาทานให้

ดูก่อนบุตรคหบดี   มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า    ที่บุตรทะนุบำรุงด้วย
สถาน  ๕  เหล่านี้แล้วแล   จะอนุเคราะห์บุตรด้วยสถาน  ๕  คือ  ๑.  ห้ามบุตรจาก
ความชั่ว  ๒.  ให้บุตรตั้งมั่นอยู่ในความดี    ๓.  ให้บุตรศึกษาเล่าเรียน  ๔.  หา
ภรรยาที่เหมาะสมให้   ๕.  มอบทรัพย์สมบัติให้ในสมัย.  อีกอย่างหนึ่ง  บุตรคนใด
บำรุงมารดาบิดาโดยทำให้เลื่อมใสอย่างยิ่งในวัตถุทั้ง  ๓  (พระรัตนตรัย) ให้ดำรง
อยู่ในศีล   หรือให้ประกอบในการบรรพชา  บุตรนี้   พึงทราบว่าเป็นผู้ล้ำเลิศ
บรรดาผู้บำรุงมารดาบิดาทั้งหลาย.
พระพุทธเจ้า    เมื่อจะทรงแสดงว่า    ก็การบำรุงนี้นั้น     เป็นเหตุ
นำประโยชน์เกื้อกูล   และความสุขในโลกทั้ง  ๒  มาให้แก่บุตรจึงไว้ตรัสไว้ว่า
คนทั้งหลาย  จะพากันสรรเสริญเขา
ในโลกนี้ที่เดียว   เขาละโลกนี้ไปแล้ว  ก็
ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์  ดังนี้.

*********************************************************

ว่าด้วยมารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 668
๗. พรหมสูตร

ว่าด้วยตระกูลมีบุตรบูชามารดาบิดา
[๒๘๖]  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย    ตระกูลใด    บุตรบูชามารดาและบิดา
อยู่ในเรือนของตน    ตระกูลนั้นชื่อว่ามีพรหม    มีบุรพเทวดา    มีบุรพาจารย์
มีอาหุไนยบุคคล  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  คำว่าพรหม  เป็นชื่อของมารดาและบิดา
คำว่าบุรพเทวดา   เป็นชื่อของมารดาและบิดา   คำว่าบุรพาจารย์  เป็นชื่อของ
มารดาและบิดา  คำว่าอาหุไนยบุคคล  เป็นชื่อของมารดาและบิดา  ข้อนั้นเพราะ
เหตุไร  ? เพราะมารดาและบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก   เป็นผู้ถนอมเลี้ยง   เป็น
ผู้แสดงโลกนี้แก่บุตร.
มารดาและบิดา  เราตถาคตกล่าวว่า
เป็นพรหม  เป็นบุรพาจารย์  เป็นอาหุไนย-
บุคคลของบุตร  เพราะเป็นผู้อนุเคราะห์
บุตร   เพราะเหตุนั้นแหละ   บัณฑิตพึง
นอบน้อมและพึงสักการะมารดาและบิดา
ทั้งสองนั้น  ด้วยข้าว  น้ำ  ผ้า  ที่นอน
การขัดสี  การให้อาบน้ำ  และการล้างเท้า
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญ  บุคคลนั้น
ในโลกนี้ทีเดียว  เพราะการปฏิบัติในมารดา
และบิดา  บุคคลนั้นละไปแล้ว  ย่อมบันเทิง
ในสวรรค์.


จบพรหมสูตรที่  ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น