เราควรโทษใคร ???
ก่อนหน้านี้มีเรื่องแม่ชีท่านหนึ่งที่โดนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้ของที่ดูแล้วหรูหราเกินสถานะเกินไปตามที่เป็นข่าวครับ
ผมมี 1 ข้อคิดให้ลองคิดเปรียบเทียบง่ายๆนะครับ
เราทราบดีว่าก่อนพระพุทธเจ้าเราจะตัดสินใจออกผนวชนั้นท่านเป็นทายาทกษัตริย์ และได้ถูกทำนายตั้งแต่ประสูติว่า ถ้าออกผนวชจะได้เป็นพระศาสดา และถ้าครองเรือนจะเป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ สุดท้ายตามประวัติท่านก็สละทุกอย่างเพื่อออกผนวช ไม่ว่าจะเป็นราชสมบัติ หรือแม้กระทั้งพระมเหสีและพระราชบุตร
พอท่านได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ผมขอใช้คำง่ายๆนะครับว่าท่านก็มีลูกศิษย์มากมาย มีทั้งพ่อค้า มีทั้งเศรษฐี จนถึงระดับกษัตริย์ของเมืองต่างๆ
เราลองคิดดูง่ายๆนะครับว่าถ้าท่านบวชเพื่อหาเงิน หาทอง หาสมบัติ ท่านจะได้มากมายขนาดไหนครับ
ขนาดแค่พระผู้ใหญ่ในบ้านเรายังมีเงินเก็บเป็นหลายๆล้านก็ยังมี
อีก 1 มุมมองครับ
แล้วพวกเราละครับจะขนสมบัติไปให้พระกันมากมายขนาดไหน ทั้งๆที่ท่านเหล่านั้นบวชมาในศาสนานี้เพื่อสละสิ่งเหล่านี้เพื่อการหลุดพ้นและพระศาสดาห้ามไม่ให้รับด้วยตามพระวินัย
สิ่งเหล่านี้เราอาจจะคิดว่าดี คิดว่าถูกในความเห็นของหลายๆคน และมันเลยกลายเป็นเรื่องธรรมดาและเคยชินในการรับสิ่งของมีค่า เช่น เงิน ทอง ที่ดิน ของพระไปโดยธรรมดาเช่นกัน
พอเราทำกันมาเป็นเวลานานๆ โดยไม่ได้รู้ข้อมูลที่แท้จริงก็มีการผิดเพี้ยนไป อย่างเช่น มีเกมส์หนึ่งที่ผมเคยเล่นตอนเด็กในชั่วโมงเรียน ที่ให้คนมาต่อแถวกันและส่งข้อความผ่านกันโดยการกระซิบบอกต่อคนข้างๆไปเรื่อยๆ และห้ามให้คนอื่นได้ยินจนถึงคนสุดท้าย และสุดท้ายแล้วข้อมูลจากปากต่อปากก็ผิดเพี้ยนไปมากมาย
ในกรณีของเรา
จาก ทวด มาสู่ ปู่-ย่า-ตา-ยาย
จาก ปู่-ย่า-ตา-ยาย มาสู่ พ่อ-แม่
จาก พ่อ-แม่ มาสู่ พวกเรา
ทวด ------> ปู่-ย่า-ตา-ยาย ------> พ่อ-แม่ ------> พวกเรา
ลองคิดดูนะครับว่าผ่านมา 2557 ปีแล้ว จะยิ่งผิดเพี้ยนไปมากขนาดไหน และมันควรถึงเวลาที่เราควรจะย้อนกลับไปศึกษาข้อมูลที่แท้จริงจากพระไตรปิฏกกันหรือยัง ดีกว่าที่จะทำตามๆกัน โดยไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริงบ้างเลย
และถ้าวันนี้หรือวันต่อๆไปจะมีข่าวการประพฤติตนไม่เหมาะสมของพระออกมาเรื่อยๆ ก็อย่าไปโทษแต่พระเลยครับ เราลองมองดูตัวเราก่อนครับว่าเราปฏิบัติตนต่อพระถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าสั่งและสอนไว้ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธแล้วหรือยัง ???
ฝากให้คิดกันนะครับ
พระไม่สามารถรับเงิน ทอง สิ่งของที่มีค่า หรือแม้กระทั้งซื้อของเองได้
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
จุลศีล
[๑๐๓] ดูกรมหาบพิตร อย่างไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.
๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน.
๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ.
๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ.
๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี.
๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส.
๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ.
๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร.
๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา.
๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน.
.
.
.
********************************************
พระไม่สามารถให้คนอื่นรับเงิน ทอง แทนตนหรือเก็บไว้ให้ตนได้
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
พระบัญญัติ
๓๗. ๘. อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงินอันเขาเก็บไว้ให้, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.
********************************************
กล่าวนำและทำความเข้าใจ
กล่าวนำและทำความเข้าใจ
Blog นี้จัดทำขึ้นเนื่องจากการที่ตั้งใจศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและหลักการปฏิบัติตนตามหลักคำสอนอย่างถูกต้อง
เพราะในปัจจุบันคนเราเน้นการทำบุญโดยเอาความสะดวกสบายและง่ายเข้าว่า โดยบ้างครั้งอาจจะผิดหลักคำสอนจนความตั้งใจทำบุญจริงๆนั้นกลายมาเป็นบาป และบ้างครั้งอาจจะหลงผิดใช้เงินกับการทำบุญที่ผิดวิธีจนได้บาปเช่นกัน แต่เราก็สามารถทำบุญอย่างง่ายๆและถูกต้องได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องรู้หลักการปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อที่จะได้บุญจริงๆ
บทความใน Blog นี้จึงขอมุ่งเน้นหยิบยกเนื้อหาอ้างอิงจากพระไตรปิฏกเป็นหลักและบทความจากผู้ที่ศึกษาพระไตรปิฏกอย่างจริงจังที่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน การทำ Blog นี้มีเจตนาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางที่สำหรับผู้คนอาจจะพบเห็นและได้ศึกษาธรรมมากขึ้น
"การศึกษาอะไรที่ยิ่งใหญ่ อาจจะมาจากเรื่องที่เราสงสัยเล็กๆเพียงเรื่องเดียว"
***ทั้งนี้เนื้อหาที่ได้ลงไปใน Blog ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณและศึกษาจากพระไตรปิฏกควบคู่ไปด้วยเพราะอาจมีการคลาดเคลื่อนของเนื้อหา เพื่อผู้อ่านจะได้รับความรู้ที่ตรงและถูกต้องที่สุดครับ***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น